“งูเห่า” เกิดจากไหน ใครบัญญัติศัพท์!?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดตำนาน "งูเห่า" มาจากไหน แล้วไฉนต้องเป็นงูเห่า ทำไมงูเห่าต้องอยู่ในสภา แล้วใครเริ่มต้นศัพท์คำนี้

ในวันพรุ่งนี้ (5 มิ.ย.) รัฐสภาจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560   ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งมีเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด และหากต้องการจะเป็นรัฐบาล จำเป็นจะต้องมีพรรคร่วมรัฐบาล

และยิ่งไปกว่านั้น หากใครบางคนต้องการเป็นรัฐบาล แต่เสียงในพรรคฝั่งที่สนับสนุนตัวเอง มีไม่พอ จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องไปดึง “งูเห่า”  จากพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาล เพื่อเป็นบันไดขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี

 

แล้ว “งูเห่า” คืออะไร

 

คอการเมืองรุ่นเก่า อาจไม่สงสัยในศัพท์ที่ว่า  แต่หากไม่ใช่คอการเมืองรุ่นเก่า หรือ หากไม่ใช่คอการเมืองจะเข้าใจหรือไม่ว่า “งูเห่า” นั้นหมายถึงอะไรกันแน่  และที่สำคัญมีที่มาอย่างไร

 

ในวงการเมืองไทยนั้น คนที่เป็นเจ้าสำบัดสำนวน มีอยู่ไม่กี่คน  ซึ่งแต่ละคนก็ล้วนเป็นดาวสภามาแล้วทั้งสิ้น  คนที่เป็นเจ้าของสำนวนและมักจะใช้วาจากรีดลึกบาดหัวใจก็มีอาทิ  นายชวน หลีกภัย  ประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน และ นายสมัคร สุนทรเวช อดีนายกรัฐมนตรี

แต่หากให้จัดอันดับดาวสภาที่มักจะเปรียบเปรยสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นสำนวน อันดับหนึ่งของหนีไม่พ้น “สมัคร สุทนทรเวช” นี่เอง   เขาเคยเปรียบ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็น “มะม่วงจำบ่ม” อันหมายถึงคนหนุ่มที่ถูกทำให้เติบใหญ่เร็วเกินไป เปรียบเหมือนมะม่วงที่ยังไม่สุกแต่ต้องรีบเก็บเอามาบ่มซึ่งที่สุดเนื้อจะไม่หวานไม่อร่อย   

และคำสำนวนเช่นนี้ “สมัคร” ใช้จนช่ำชอง และเขานี่เองเป็นคนเปรียบเปรยกลุ่ม ส.ส. ในพรรคที่แปรพักตร์ไปอยู่พรรคอื่น จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที ว่าเป็นพวก “งูเห่า”

แล้วทำไม ส.ส. แปรพักตร์ต้องเป็น  “งูเห่า”

เรื่องราวเกิดเมื่อปลายปี 2540 เมื่อ เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตัดสินใจลาออก  ซึ่งครั้นั้นพรรคร่วมรัฐบาลเดิมตัดสินใจที่จะรวมกลุ่มกัน และสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

โดยในขณะนี้มีเสียง ส.ส. พรรคร่วมที่จับมือกัน  4 พรรค  197 เสียง ประกอบด้วย  พรรคความหวังใหม่  125 เสียงพรรคชาติพัฒนา 52 เสียง  พรรคประชากรไทย (ที่มี “สมัคร” เป็นหัวหน้าพรรค) 18 เสียง และ พรรคมวลชน 2 เสียง

ส่วนอีกฟากก็พยายามจัดตั้งรัฐบาลแข่ง โดยชูนายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ และมีพรรคแกนนำคือ พรรค  พรรคประชาธิปัตย์ 123 เสียง  พรรคชาติไทย 39 เสียง  พรรคเอกภาพ 8 เสียง  พรรคพลังธรรม 1 เสียง  พรรคไท  1 เสียง   รวมกับพรรคร่วมเดิมอย่าง พรรคกิจสังคม20 เสียง  และ พรรคเสรีธรรม 4 เสียง  รวมได้ 196 เสียง ซึ่งยังน้อยกว่าฝั่งตรงข้ามอยู่ 1 เสียง

ทำให้ถึงมือของ ผู้จัดการรัฐบาลในยุคนั้นอย่าง “เสธ.หนั่น”  พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์  ได้ลงมือเจรจา ดึง ส.ส.พรรคประชากรไทย ในกลุ่มของนายวัฒนา อัศวเหม จำนวน 13คนเข้ามาสนับสนุน รวมได้เป็น 209 เสียง นายชวนจึงได้เป็นนายกฯ    

 

และทำให้พรรคประชากรไทยแตกออกเป็นสองฟาก ฟากที่หนุนพล.อ.ชาติชาย และอยู่กับ “สมัคร” จึงเหลือเพียง 5 เสียงจาก 18 เสียง  ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น “สมัคร” ได้งัดเอาสำนวนจากนิทานอีสปเรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” มาใช้

โดย “สมัคร” เปรียบตัวเองเป็นชาวนา  ที่นำเอากลุ่มของ “วัฒนา อัศวเหม” ให้มาอยู่ด้วย เพราะ ขณะนั้น “วัฒนา”  ขัดแย้งกับ “บรรหาร ศิลปอาชา” เจ้าของพรรคชาติไทย และย้ายมาอยู่กับ “สมัคร”

แต่สุดท้ายเขาก็เปรียบว่าเขาถูกงูเห่าแว้งกัด และเปรียบกลุ่มของ “วัฒนา” เป็นกลุ่ม “งูเห่า”  และจากนั้นเป็นต้นมา คนที่แยกออกจากพรรคหลักที่มีมติในทางใด มักจะถูกเรียกว่าเป็นงูเห่า ซึ่งครั้งนี้ก็มีคนจับตาว่าจะมีกลุ่ม “งูเห่า” เกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่

 

ย้อนกลับไปอีกครั้ง หลังประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาลในครั้งนั้นสำเร็จ แกนนำกลุ่ม “งูเห่า” แม้จะมีเพียง 13 คน แต่ได้รับตำแหน่งถึง 4 ตำแหน่งประกอบด้วย คือ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวัฒนา อัศวเหม ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประกอบ สังข์โต ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม นายยิ่งพันธ์ มนะสิการได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขณะที่นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ที่เป็นหนึ่งใน ส.ส.กลุ่มดังกล่าว เมื่อมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯแล้ว  ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งในทันที

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ