“โคก หนอง นา” โมเดล ดูแลป่าต้นน้ำเมืองไทยตามศาสตร์พระราชา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




“ แม่น้ำป่าสักจะบริหารจัดการได้ยากที่สุด เพราะปริมาณน้ำไหลลงอ่างสูงมากหลายเท่าของความจุอ่าง...ทำให้การบริหารจัดการทำได้ยาก” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช คือแสงสว่างนำทางก่อเกิดแรงบันดาลใจปลุกชีวิตของป่าต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

ลุ่มน้ำป่าสัก เป็นลุ่มน้ำสาขาสำคัญของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ประมาณ 10 ล้านไร่ ครอบคลุม 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดลพบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสระบุรี และ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยในแต่ละปีมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ปีละ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้สูงสุดเพียงประมาณ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำฝนที่เหลือกว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงหลั่งไหลลงสู่พื้นที่ด้านล่าง ก่อให้เกิดน้ำท่วมส่งผลกระทบถึงพื้นที่ภาคกลางรวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

“หัวหน้าฉิม” ผู้ยึดมั่นในศาสตร์พระราชาทำให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

รวมพลังปั่นตามรอยพ่อ ปีที่ 7 ชื่นชมผลผลิตจากศาสตร์พระราชา

แต่ทั้งหมดนี้จะบรรเทาเบาบางลง ถ้าพื้นที่ป่าต้นน้ำของลุ่มน้ำป่าสักมีความอุดมสมบูรณ์ มีการกักเก็บน้ำอย่างเพียงพอ ด้วยการสร้างหลุมขนมครกในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” เทคนิคการบริหารจัดการพื้นที่ ที่ผสมผสานระหว่างเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งทำได้ง่าย และช่วยเก็บน้ำได้จริง ทำให้เกษตรกรและชาวบ้านมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง พอถึงฤดูฝนปัญหาน้ำไหลหลากสู่พื้นที่ด้านล่างก็บรรเทาเบาลงเมื่อคนในพื้นที่ต้นน้ำกักเก็บน้ำได้

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จึงผนึกกำลังดำเนินโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน ตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น และมุ่งหวังให้เกิดการขยายผลไปยังลุ่มน้ำต่างๆ ครอบคลุมทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ โดยในปีนี้ โครงการฯ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 ภายใต้แนวคิด “แตกตัวทั่วไทย สานพลังสามัคคี” ที่มุ่งผสานพลังสามัคคีจากทุกภาคส่วนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาลงสู่การปฏิบัติให้ครอบคลุมทุกลุ่มน้ำ อันเป็นเป้าหมายของโครงการฯ

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า ตลอดระยะเวลา 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 โครงการขยายตัวไปมาก แม้ว่าจะยังมีอุปสรรคในเรื่องของการขับเคลื่อนองค์ความรู้ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จึงต้องเร่งสร้างตัวอย่างความสำเร็จให้มากขึ้น โดยโครงการปีที่ 7 อันเป็นปีแรกของระยะที่ 3 ตามแผนหลัก 9 ปี ที่เรียกว่า ระยะ 'ขยายผลเชื่อมทั้งระบบ' จะต้องสร้างกลไกความร่วมมือของทั้ง 7 ภาคีระดับชาติ (รัฐ เอกชน วิชาการ ประชาสังคม ประชาชน ศาสนา สื่อมวลชน) ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในวันนี้ เรื่องเกษตรอินทรีย์ เป็นหนึ่งใน 15 นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว นอกจากนั้น ยังมุ่งยกระดับสู่การแข่งขัน วางรากฐานพัฒนามนุษย์ คือ เร่งสร้างคน สร้างครูพาทำ ที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ต่อไป และมีเป้าหมายในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในระดับลุ่มน้ำเชื่อมโยง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

"เป้าหมายคือกระจายให้ทุกๆ ลุ่มน้ำนำแนวทางศาสตร์พระราชาลงไปปฏิบัติโดยเริ่มจากลุ่มน้ำป่าสัก เพราะบริหารจัดการได้ยากที่สุด เชื่อว่าโครงการในปีที่ 7 จะเดินไปได้เร็วกว่าเดิมมาก เพราะคนเริ่มเข้าใจ และเริ่มเห็นประโยชน์มากขึ้น คนหัวไวใจสู้ทำไปแล้ว คนที่รอดูทีท่ากำลังตามลงมือทำ อุปสรรคใหญ่คือออกแบบพื้นที่ไม่ทันกับความต้องการ เราจึงต้องเร่งสร้างคน ด้วยการฝึกอบรมเพื่อให้สามารถออกแบบและคำนวณพื้นที่ให้เป็น ขุดบ่อน้ำให้ได้ตามที่ออกแบบ จากเดิมโครงการระยะยาว 9 ปี เราตั้งเป้าสร้าง 100,000 หลุมขนมครก ซึ่งหมายถึงพื้นที่ละ 10 ไร่ มาในวันนี้เหลือเพียงสามปีเท่านั้น แต่คนเริ่มเห็นความจริงว่าแนวทางนี้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มั่งคั่ง มีสุขภาพที่ดี เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน การขยับเป้าให้กลายเป็น 1 ล้านหลุมขนมครกก็มีความเป็นไปได้"  นายวิวัฒน์ กล่าว

ขณะที่ นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บอกว่า    จากการมีส่วนขับเคลื่อนโครงการมาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดว่า “ศาสตร์พระราชา” สามารถพลิกฟื้นพื้นที่แห้งแล้งให้กลับมาเขียวขจี ทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจริง ปลดหนี้ได้ ซึ่งยังมีเป้าหมายที่รออยู่ข้างหน้าในช่วงเวลาอีก 3 ปี ดังนั้น จึงต้องเร่งขับเคลื่อนให้มากที่สุดในช่วงที่ทุกฝ่ายกำลังตื่นตัว

โดยเชฟรอนเองยังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพราะมีแนวคิดสอดคล้องกับโครงการเพื่อสังคมของเชฟรอน ที่มุ่งเน้นการสร้างคน องค์ความรู้ และจิตสำนึก สนับสนุนนโยบายด้านสังคม ทั้ง 4 ด้าน ของเชฟรอน คือ ด้านการศึกษาด้วยการเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่การลงมือปฏิบัติ ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ที่ช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ การช่วยฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า และด้านการส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคม

"นอกจากนั้น ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals –SDGs ขององค์การสหประชาชาติหลายข้อจาก 17 ข้อ ที่มุ่งเน้นการลดความหิวโหย จากการสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยและมั่นคงในพื้นที่ของตัวเอง  รวมถึงขจัดความยากจน ที่สอนให้รู้จักพึ่งพาตนเองและดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มจากการพอมี พอกิน พอใช้ ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานของการพัฒนาอย่างมั่นคง เชฟรอนจึงยังยืดหยัดที่สนับสนุนและมีความหวังที่จะเห็นการขยายตัวไปให้ครบทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ" นายอาทิตย์ กล่าวเสริม

ทั้งนี้ โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 7 จะเดินทางไปจัดกิจกรรมปั่นจักรยานรณรงค์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในพื้นที่ จ.เลย ในวันที่ 1 สิงหาคม โดยเริ่มต้นจากศาลากลางจังหวัดเลยถึงวัดป่าประชาสรรค์ อ.วังสะพุง จ.เลย รวมระยะทาง 45 กิโลเมตร ต่อด้วยกิจกรรมเอามื้อสามัคคี เพื่อร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสัก ในระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง และไร่นาป่าสวนขุนเลย อ.ภูหลวง จ.เลย ผู้ที่สนใจติดตามกิจกรรมได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ