ภาพน้ำที่แห้งขอด บริเวณแม่น้ำชี บางจุดสามารถเดินข้ามได้อย่างสะดวก เป็นภาพที่นักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บันทึกเพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น เนื่องจากแม่น้ำชี เป็นแม่น้ำสาขา ของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ภาควิชาสังคมและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสารคาม เปิดเผยว่า จากปัญหาน้ำแห้งขอดที่เกิดขึ้น เป็นผลกระทบจากน้ำโขงที่ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ 7 จังหวัดภาคอีสาน จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี โดยเฉพาะเขตพื้นที่ อ.เชียงคาน อ.ปากชม ของจังหวัดเลย มีชุมชนริมฝั่งโขงระบบนิเวศน์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
การลดลงของน้ำอย่างรวดเร็ว ยังส่งผลให้ป่าสองฝั่งโขง ที่เป็นพืชธรรมชาติของสัตว์น้ำตายอย่างรวดเร็ว สัตว์น้ำตัวอ่อน หรือตัวเล็กจำนวนมากตายเกลื่อน เพราะไม่สามารถหนีได้ทัน ปลาใหญ่ที่หนีลงแหล่งน้ำใหญ่ก็ถูกประชาชนจับ ความมั่นคงทางอาหารของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงจะไม่มี อาชีพดั้งเดิมของชุมชนจะล่มสลาย ถือเป็นจุดวิกฤตของระบบนิเวศน์ประกอบกับหากการจัดการน้ำของภาครัฐ ระบบชลประมาน ที่เชื่อว่ายังไม่มีประสิทธิภาพ จะกระทบต่อการทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา
เจ้าหน้าที่ ย้ายเครื่องสูบน้ำและต่อหัวท่อดูดน้ำ เพื่อให้สามารถสูบน้ำโขงที่มีระดับต่ำส่งเป็นน้ำดิบไปทำน้ำประปา หลังระดับน้ำโขงที่จังหวัดหนองคายมีระดับต่ำเพียง 84 ซม. ส่งผลต่อระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาหนองคาย
นายคมกริช ศรีปัญญา ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาหนองคาย กล่าวว่า น้ำดิบที่นำไปผลิตนำประปาใช้ในจังหวัดหนองคาย เป็นน้ำดิบจากแม่น้ำโขงทั้งหมด แต่ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงได้ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีระดับลดลงอย่างรวดเร็ว เบื้องต้นแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือการปรับระดับท่อสูบน้ำให้ต่ำกว่าระดับน้ำโขง และการปรับระบบการส่งน้ำ จากโรงกรองน้ำนอกเขตตัวเมือง เช่นจุดตำบลปะโค อ.เมือง หนองคาย ซึ่งมีเครื่องสูบตั้งในจุดที่ระดับน้ำโขงยังไม่วิกฤต ส่งน้ำเข้ามาในพื้นที่ที่ขาดแคลน
ในมุมสนทช. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุปัจจัยที่ทำให้ระดับน้ำโขงลดลงมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติทั้งในประเทศจีน ลาว และไทย ประกอบ กับเขื่อนจิ่งหงของจีนปรับลดการระบายน้ำ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่เขื่อนไซยะบุรี ของลาว กักเก็บน้ำเพื่อทดสอบการผลิตไฟฟ้า จึงทำให้เกิดน้ำสูงขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ 2-3 วัน ก่อนจะกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งทาง สทนช. ได้ประสานงานกับทาง สปป.ลาว ให้ชะลอการทดสอบระบบดังกล่าว เพื่อรอให้น้ำจากเขื่อนจิ่งหงไหลมาเติมก่อน
ส่วนภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบปริมาณและการกระจายของฝนที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้านำมาเผยแพร่นี้ สะท้อนว่า พื้นที่ภาคเหนือ และ ภาพอีสาน บริเวณจุดที่เป็นสีเหลืองอ่อน คือ จุดที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุด ซึ่งหากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561 จะพบว่า พื้นที่ทั้งหมดเป็นสีเหลืองเข้ม และ สีแดง ซึ่งหมายความว่ามีฝนตกในปริมาณที่มาก
ข้อมูลนี้ นายอนุสรณ์ รังสีพานิช รักษาการนักภูมิสารสนเทศเชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ระบุว่า เมื่อนำมาเทียบกับข้อมูลของกรมชลประทานที่ทำกราฟแสดงปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา พบว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จึงแนะนำว่า รัฐบาลควรเจรจาหารือกับประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศต้นน้ำ เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไข เช่น อาจเสนอให้ปล่อยน้ำเพิ่มเติม เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ตลอดลำน้ำโขงไว้
ส่วนแผนที่ที่แสดงดัชนีความแห้งแล้งของพื้นที่ ที่ซึ่งเก็บข้อมูลในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า ปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน แต่หากเปรียบเทียบเฉพาะปีนี้ พบว่า มีทิศทางที่ดีขึ้น
แต่ต้องจับตาดูว่าต้นเดือนสิงหาคมจะมีฝนตกเพิ่มเติมหรือไม่ โดยเฉพาะ สถานการณ์ในภาคอีสาน ซึ่งต้องลุ้นว่าฝนจะต้นในประเทศจีนหรือไม่ เนื่องจาก จีนเป็นประเทศต้นน้ำของแม่น้ำโขง เพราะ หากฝนตกที่ไทยหรือลาวอย่างเดียวก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนั้น
เตือน “น้ำโขง” ยังขึ้นต่อเนื่อง จับตาฝนตกอีก วันที่ 5 - 7 ส.ค.นี้