วันนี้ 22 ก.ค. 2562 ทีมข่าวพีพีทีวี สำรวจระดับน้ำในแม่น้ำจากศูนย์ตรวจวัดระดับน้ำอัตโนมัติ ของอุทกวิทยาสถานีเชียงคาน จ.เลย พบว่าระดับน้ำล่าสุดอยู่ที่ 4 เมตร 38 เซนติเมตร เป็นสัญญาณบ่งชี้ไปในเดินที่ขึ้นกว่าสัปดาห์ที่ผ่าน หัวหน้าสถานีอุทกวิทยาเชียงคาน ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวเลขสถิติระดับน้ำในแม่น้ำโขง
เมื่อนำตัวเลขระดับน้ำของวันนี้ 4 เมตร 38 เซนติเมตร ไปเปรียบเทียบกับ ตัวเลขช่วงวิกฤตหนักที่สุดสัปดาห์ที่แล้ว วันที่ 15 ก.คที่ระดับน้ำต่ำสุดจะอยู่ที่ 3 เมตร 64 เซนติเมตร ต่างกัน 74 เซนติเมตร แต่หากนำตัวเลขของวันที่ 15 ก.ค. ไปเปรียบเทียบกับของปีที่แล้ว ระดับน้ำจะอยู่ที่ 7 เมตร 19 เซนติเมตร ห่างกัน 3 เมตร 55 เซนติเมตร ทั้งที่เป็นฤดูมรสุมเหมือนกัน ตัวเลขทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาความผันผวนของแม่น้ำโขง ซึ่งในไม่เกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 50 ปี
นาย กัญจน์ วงศ์อาจ ประธานเครือข่ายประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน จ.เลย และเป็นกรรมการลุ่มน้ำโขง มองว่าระบบการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงเริ่มมีปัญหาตั้งแต่แม่น้ำโขงล้านช้างพื้นที่ต้นน้ำมีการสร้างเขื่อนกั้นเก็บน้ำเอาไว้ ส่วนพื้นที่ท้ายน้ำยังมีเขื่อนไซยะบุรี การปล่อยน้ำไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างสิ้นเชิงเห็นได้จากผลกระทบที่เกิดขึ้นขณะนี้
ส่วนประเด็นปัญหาการจัดการน้ำของ “ สนทช.” นั้น ในเมื่อประเทศเพื่อนบ้านขณะนี้ยังไม่ให้ข้อมูลการปล่อยน้ำ ควรจะปรับแผนการบริหารน้ำ ในภาคปฎิบัติควรมอบอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการ สนทช. ควรกำกับดูงานนโยบายและงานบริหาร เพื่อความคล่องตัวในการช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดวิกฤตเช่นนี้
ส่วนการปรับตัวของชาวบ้านขณะนี้ ในสถานการณ์วิกฤตผู้เชี่ยวชาญแนะนำควรแบ่งการใช้น้ำออกเป็น 2 กลุ่ม ส่วนแรกเก็บน้ำเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนให้เพียงพอ ส่วนที่ 2 คือน้ำสำหรับใช้ในการเกษตร เพราะจะนี้ความผันผวนของน้ำโขงไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะระบบนิเวศเปลี่ยนไปจากเดิม