เมื่อวันที่ (1 ต.ค.62) นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการจีดีพีเติบโตลดลงเหลือ 2.8% จากกรอบ(2.5-3%) จากเดิม 3.1% มาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ตัวเลขส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมา หดตัวมากกว่าคาด โดยหดตัวในหลายกลุ่มสินค้าและเกือบทุกตลาดหลัก ส่งผลให้ปรับลดประมาณการการส่งออกลงเหลือ -2.0% ถึง 0.0% จากเดิมที่ 0.0% ขณะที่มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” จะช่วยหนุนจีดีพีราว 0.02% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวม 310,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.3%
คลัง จ่อหั่นอีก! เป้า จีดีพี หลังส่งออกไทย 8 เดือน ติดลบ 2.2%
กนง.คงดอกเบี้ย 1.50% หั่นจีดีพี ปี’62 เหลือ 2.8%
โดยปัจจัยหลักที่ยังกดดันเศรษฐกิจไทยก็ยังคงเป็นปัจจัยต่างประเทศ ทั้งในส่วนของสงครามการค้าที่คาดว่าจะยืดเยื้อต่อไปถึงปีหน้า แต่ความรุนแรงไม่น่าจะเพิ่มขึ้นแล้วหากสิ้นปีนี้มีการเก็บภาษีเพิ่มอีก 300,000 ล้านบาท แต่ก็ยังมีผลกระทบต่อเนื่องถึงการส่งออกของไทยไปจนถึงปีหน้า รวมถึงกรณีของ Brexit ที่ยังยืดเยื้อแต่จะส่งผลจำกัดกับไทย เนื่องจากไทยมีการส่งออกไปยังอังกฤษเพียง 2% ส่วนกรณีของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่คาดว่าไทยจะได้รับอานิสงส์จากย้ายฐานการผลิตมาไทยแทนจีนนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ไทยจะไม่ใช่ประเทศหลักที่ได้ประโยชน์จากกรณีดังกล่าว เนื่องจากมีค่าแรงขั้นต่ำที่สูงที่สุดในประเทศอาเซียน จึงไม่สามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น
สำหรับในปี 2563 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่มาก ทำให้การส่งออกยังคงหดตัว ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้จีดีพีมีโอกาสต่ำกว่า 3.0% โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกในปีหน้าจะยังติดลบที่ 2%มากกว่าปีนี้ เนื่องจากในปีหน้าผลจากการเก็บภาษีจะมีผลทั้งปี ขณะที่ปีนี้มีผลไม่เต็มทั้งปี ขณะที่มาตรการทางการเงินนั้น คาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในปีนี้ และอีก 1 ครั้งในต้นปีหน้า เช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐฯที่่คาดว่าจะลดดอกเบี้ยอีกครั้งใน 1 ปีนี้ และต้นปีหน้าอีก 1 ครั้ง แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯชะลอตัวกว่าที่คาดเฟดมีสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้ ก็อาจจะกดดันดอลลาร์สหรัฐฯให้อ่อน และทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯได้ จาก ณ ปัจจุบันจนถึงไตรมาสแรกปีหน้าคาดการณ์เงินบาทที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในปีหน้า ทางภาครัฐควรจะมีมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่ควรเน้นเข้าไปดูแลในส่วนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกมาก ซึ่งก็คือกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีความเปราะบางค่อนข้างมากเพราะได้รับผลกระทบมาต่อเนื่อง และหากในปีหน้าการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวก็อาจจะไม่สามารถประคองตัวอยู่ได้ และจะส่งผลกระทบในวงกว้างไปถึงภาคการผลิตและการว่าจ้างงานเนื่องจากเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่มีการว่าจ้างงานในอัตราที่สูง และกระทบต่อไปถึงการบริโภค ซึ่งมาตรการทางการคลังจะมีผลที่เร็วและชัดกว่ามาตรการทางการเงินที่กว่าจะส่งต่อไปถึงภาคเศรษฐกิจ