เป็นอีกประเด็นที่ภาคประชาสังคมออกมาเรียกร้องสิทธิสวัสดิการบำนาญสำหรับผู้สูงอายุทุกคนในประเทศไทย ด้วยการผลักดัน ร่างพ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. มีการล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวให้คนไทยทุกคนที่อายุครบ 60 ปีได้รับเงินบำนาญเพื่อใช้ยามแก่เฒ่า
"กองทุนการออมแห่งชาติ" เครื่องมือสร้างเงินบำนาญยามชราภาพ
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้ข้อมูลว่า การที่เครือข่ายฯ ออกมาผลักดันเรื่องนี้ เนื่องจากมองว่า ปัจจุบันมีเพียง 2 กลุ่ม คือ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม ที่เมื่ออายุ 60 ปีจะได้รับเงินบำนาญใช้ยามแก่ชรา แต่ยังมีกลุ่มคนส่วนใหญ่อีก 48 ล้านคนที่ใช้สิทธิบัตรทองหรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งไม่มีสิทธิรับเงินบำนาญใดๆทั้งสิ้น ขณะที่กลุ่มข้าราชการ ก็ยังมีข้าราชการชั้นผู้น้อยที่รับเงินบำนาญไม่กี่พันบาท จนรัฐบาลก่อนหน้านี้เคยออกมาตรการช่วยเหลือให้ข้าราชการกลุ่มนี้ได้รับเงินขั้นต่ำ 10,000 บาท ส่วนสิทธิประกันสังคม หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเต็มเพดานครบถ้วน ก็จะได้รับเงินบำนาญเพียงเดือนละ 4,000 กว่าบาทเท่านั้น ถามว่าเพียงพอกับการใช้ดำรงชีพยามชราหรือไม่
“สรุปคือ คนส่วนใหญ่ของประเทศไทย ยังเป็นกลุ่มที่เสี่ยงจะไม่มีเงินพอใช้จ่ายยามแก่ชรา หากจะเพียงพอก็จะเป็นกลุ่มคนชั้นกลางต้องเก็บออม หรือทำประกันเงินออมเอง ที่ผ่านมาทางเครือข่ายได้มีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อยืนยันว่า การจัดสวัสดิการเพื่อหลักประกันในการดำรงชีวิต เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับเท่าๆกัน โดยรัฐบาลต้องมีการจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ในอัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน คือ 3,000 บาท/เดือน โดยให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีทุกคน ซึ่งเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 12 ล้านคน” นายนิมิตร์ กล่าว
คลังเล็งออก 4 แพ็กเกจหนุนคนไทยออมรับเกษียณ
เมื่อถามว่าต้องใช้งบประมาณรวมปีละเท่าไหร่ และจะนำงบจากส่วนไหนมาใช้ นายนิมิตร์ กล่าวว่า โดยรวมประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท ส่วนการจัดเก็บงบประมาณนั้น ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งสามารถจัดสรรได้ เพราะขนาดงบในการใช้โครงการ “ชิม ช้อป ใช้” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยังจัดหาได้ แต่กรณีนี้เป็นสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานของคนไทยย่อมต้องดำเนินการได้เช่นกัน เพราะยังมีงบฯสงเคราะห์กระจายตามกระทรวงต่างๆ อีก ทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ
ภาพเพจบำนาญแห่งชาติ
“จริงๆ เราจัดทำเป็นโมเดลปิ่นโต 3 ชั้น ในแต่ละกลุ่ม แบ่งเป็น ชั้นที่ 1 คือ กลุ่มคนสว่นใหญ่ที่จะได้รับงบจากบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าประมาณ 3,000 บาท/เดือน ชั้นที่ 2 กลุ่มคนที่ได้รับเงินบำนาญตามสิทธิของตนเอง คือ ในส่วนข้าราชการ และผู้ประกันตน ซึ่งพวกเขาต้องได้รับเงินบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า 3 พันบาทด้วย แม้จะได้ตามสิทธิอยู่แล้ว เพราะสิทธิที่ได้เกิดจากการที่พวกเขาทำงานในส่วนราชการ และพนักงานเอกชน ซึ่งเป็นสวัสดิการที่พวกเขาได้จากการทำงาน และผู้ประกันตนก็เก็บออมเองด้วย ดังนั้น จะไปลิดรอนสิทธิเขาไม่ได้ และ ชั้นที่ 3 คือ กลุ่มคนที่มีกำลังพอในการออมเงินผ่านกองทุนต่างๆด้วยตนเอง ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็เป็นคนไทยควรได้รับเช่นกัน” ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เกี่ยวกับการผลักดันร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายฯ ได้ไปยื่นหนังสือร่างกฎหมายให้แก่รัฐสภา ตามระเบียบที่ต้องดำเนินการ และล่าสุดในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ขอชวนทุกคนที่อยากสร้างบำนาญแห่งชาติด้วยกัน เพราะพวกเราจะนำรายชื่อที่รวบรวมจำนวน 10,000 รายชื่อไปยื่นในการผลักดันกฎหมายที่รัฐสภา