โลกแห่งความเงียบ..ที่หลายคนยังไม่รู้..


โดย วารุณี สิทธิรังสรรค์

เผยแพร่




ปัญหาของคนหูหนวก คือ ไม่มีใครรู้ปัญหาของเขา พวกเขาต้องเผชิญปัญหาอย่างเงียบๆ โดยที่ต้องการความช่วยเหลือไม่แพ้คนทั่วไปอย่างเราๆเลย

“พวกหนูไม่ได้ยิน ไม่สามารถสื่อสารกับใครได้ เวลามีปัญหาเรื่องเพศ ทั้งโรคจากเพศสัมพันธ์ ท้องไม่พร้อม วิธีกินยาคุม หรือการปฏิเสธการมีเซ็กส์กับแฟน พวกหนูไม่รู้วิธี ต้องค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตกันเอง ทั้งที่เราก็ไม่เข้าใจตัวอักษรภาษาไทยทั้งหมด อ่านถูกบ้างผิดบ้าง....”

หนุนเยาวชนพกถุงยางอนามัย เผื่อใช้ยามฉุกเฉิน !

คำพูดของกลุ่มวัยรุ่นผู้พิการทางการได้ยิน หรือคนหูหนวก เมื่อถูกถามถึงปัญหาความไม่รู้เรื่องเพศ  ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจมองข้ามพวกเขา..

 น้องเนย นักศึกษาระดับปวช. 3  อายุ 18 ปี   เล่าถึงปัญหาการศึกษาเรื่องเพศผ่านครูล่ามภาษามือ ว่า  ก่อนหน้านี้เราก็ไม่รู้วิธีของการป้องกันโรค ไม่รู้การคุมกำเนิด เราก็เกิดความกลัวว่า เราจะท้อง และเวลาเราจะไปถามคนที่มีการได้ยิน เราก็สื่อสารไม่ได้ หรือแม้แต่จะเขียนสื่อสาร ก็กลัวจะคลาดเคลื่อนเข้าใจผิดอีก  และเวลาที่เราหาคนที่มาให้คำปรึกษาเราไม่ได้ เราก็จะค้นหาเองจากกูเกิ้ล บางทีเราได้ข้อมูลมา ให้คนที่มีการได้ยินก็ไม่ค่อยเข้าใจ

“ พวกหนูลำบากมาก เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีการเรียนการสอนเรื่องเพศโดยตรง มีคำแนะนำบ้าง แต่ไม่ครบถ้วน จะทราบก็เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งเรียนรู้จากตัวเอง แต่หากเป็นเรื่องคุมกำเนิด  การนับวัน การปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ถ้ายังไม่พร้อม เราไม่รู้เลย ที่ผ่านมาก็ใช้วิธีค้นหาในอินเทอร์เน็ต ในกูเกิ้ล อ่านเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง”

น้องเนย ยังใช้ภาษามือ เล่าอีกว่า เมื่อมีโครงการพัฒนาความรู้ให้แกนนำนักเรียน นักศึกษา จึงตัดสินใจเข้าร่วม เพราะจะได้เอาความรู้มากระจายให้เพื่อนๆ และยิ่งมีคลิปวิดีโอให้ความรู้เป็นภาษามือ ยิ่งทำให้เข้าใจง่ายขึ้น  ทั้งเรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ การป้องกันโรคทางเพศ วิธีคุมกำเนิด

“หนูอยากให้ภาครัฐสนับสนุนโครงการลักษณะนี้ อย่างทุกวันนี้ในสื่อต่างๆ มีแคปชั่นตัวหนังสืออธิบาย หนูก็อยากให้มีจอสำหรับการใช้ภาษามือ เพื่อคนหูหนวกด้วย” น้องเนยเล่าด้วยภาษามือ พร้อมด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

“น้องแม็กกี้” หรือ  น.ส.เนตรชนก จันทา Miss Deaf Thailand 2019  อายุ 20 ปี  ยังเล่าถึงสุขภาวะทางเพศในมุมของผู้ประกวดด้วยภาษามือ ว่า  พวกเราไม่เคยรู้เกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศ ไม่รู้ว่าการป้องกันคุมกำเนิดต้องทำอย่างไร รู้จากอินเทอร์เน็ตเท่านั้น เชื่อว่ายังมีคนหูหนวกอีกหลายคน ไม่รู้ข้อมูลตรงนี้  อย่างส่วนตัวเมื่อเป็นวัยรุ่น ก็จะมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ ผู้หญิงผู้ชาย ความรัก ความใกล้ชิด การวางตัว ความรู้สึก อารมณ์ต่างๆ ซึ่งเพื่อนๆ คนรอบข้างที่หูหนวกมีปัญหาหมด  ทางออก คือ เราก็เรียนรู้เอง จากเว็บไซต์ แต่ก็อ่านไม่เข้าใจทั้งหมด

เธอเล่าด้วยภาษามืออีกว่า  ก่อนหน้านี้ข้อมูลทั่วไปยังไม่ค่อยมี คลิปวิดีโอสื่อการเรียนการสอนของคนหูหนวกจึงไม่มีเลย  ดังนั้น การผลิตสื่อการเรียนการสอนคลิปสื่อใจวัยรุ่น จึงเป็นเรื่องที่ดีมาก และอยากให้ผู้พิการหูหนวก น้องๆ เพื่อนๆ พี่ๆ หันมาสนใจ และใครที่ได้รับความรู้เรื่องนี้แล้วก็อยากให้กระจายความรู้ไปให้คนอื่นๆ ด้วย เพราะประเด็นการสื่อสารสุขภาวะทางเพศยังมีข้อจำกัด และยังขยายไม่กว้างขวางเพียงพอ                       

ด้าน ผศ.ศิวนารถ หงษ์ประยูร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  ในฐานะผู้ขับเคลื่อนสื่อการเรียนรู้เพศศึกษาให้กับนักเรียนหูหนวก เล่าว่า  ก่อนหน้านี้เคยทำรายการทีวีที่ต้องลงไปคลุกคลีกับคนหูหนวก ทำให้ได้ข้อมูลว่าคนหูหนวกสนใจอะไรกัน คำตอบที่ตกใจ คือ เรื่องเพศ พวกเขาอยากรู้ว่าเรื่องเพศจะใช้ชีวิตอย่างไร  ซึ่งเรื่องนี้พวกเขามีปัญหามาก ทั้งท้องไม่พร้อม เป็นโรคร้าย การดูแลอวัยวะเพศ สุขภาวะทางเพศต่างๆ พวกเขาก็ไม่รู้ แม้แต่การดูแลอวัยวะเพศของตัวเอง หลายคนก็ยังไม่รู้  การจะสื่อสารสอบถามใครด้วยภาษามือก็มีข้อจำกัด เพราะภาษามือ ไวยากรณ์จะแตกต่างจากภาษาไทย ตัวเรียงไม่เหมือนกัน  คำไม่เหมือนกัน เขาไม่สามารถหาความรู้จากสื่ออื่นๆได้  

ผศ.ศิวนารถ หงษ์ประยูร

“คนหูหนวก ส่วนใหญ่จะคุยกันเอง เพราะไม่สามารถอ่านหนังสืออย่างที่เราเข้าใจ ปัญหาของคนหูหนวก คือ คนอื่นไม่รู้ปัญหาของเขา คือเรามักเข้าใจว่า คนหูหนวกอ่านหนังสือได้ อ่านหนังสือออก 100% แต่จริงๆ ภาษาไทยที่เราเห็นกัน หรือเขียนในอินเทอร์เน็ต เขาจะอ่านได้ไม่เต็ม 100 % เพราะไวยากรณ์ไม่เหมือนกัน เขาจึงหันมาคุยกันเอง ก็ไม่มีข้อมูลจากข้างนอก หรือแม้แต่พ่อแม่ บางคนก็ไม่ได้พูดภาษามือได้ เรื่องนี้จึงไม่มีคนสอนเขา หรือแม้แต่ในโรงเรียน ครูล่ามก็มีจำนวนจำกัด ดูแลไม่ทั่วถึง คนรอบข้างไม่สามารถให้ข้อมูลตรงนี้ได้เลย จึงทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านนี้ได้” ผศ.ศิวนารถ กล่าว

จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงสนับสนุนให้เกิดโครงการพัฒนารูปแบบและกระบวนการในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ และสุขภาวะทางเพศสำหรับผู้หญิงพิการ  โดยให้มีการจัดทำสื่อการเรียนรู้ผ่านคลิปวิดีโอ ในชื่อ “คลิปสื่อใจวัยรุ่น” เพื่อเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจ สร้างความมั่นใจ เพื่อสุขภาวะทางเพศของเด็กผู้หญิงหูหนวก  

หนูเกิดมาได้อย่างไร? เทคนิคคุยเรื่องเพศกับลูกน้อย

แบ่งเนื้อหาออกเป็น 1. ความเข้าใจสภาวะทางร่างกาย 2.ความเข้าใจเรื่องความต้องการมีเพศสัมพันธ์ 3.ความเข้าใจถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และ4.วิธีปฏิบัติตนเบื้องต้นเมื่อเกิดปัญหาจากการมีเพศสัมพันธ์ พร้อมทั้งมีการอบรมพัฒนาแกนนำนักเรียน โดยได้เริ่มตั้งแต่ปี 2560  นำร่องโรงเรียน 4 แห่ง  คือ โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ วิทยาลัยดอนบอสโก  โรงเรียนโสตศึกษาชลบุรี และวิทยาลัยเทคนิคบางแสน  ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้นำชุดสื่อการเรียนรู้นี้ไปต่อยอดโรงเรียนโสตศึกษา และโรงเรียนที่มีคนหูหนวกทั้งหมด 21 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งหมดก็เพื่อให้โลกแห่งความเงียบของพวกเขาไม่ถูกปิดกั้นความรู้เรื่องเพศศึกษาอีกต่อไป..

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ