จตุรมิตรสามัคคี เรา 4 พี่น้องต่างปองรักกัน


โดย หนุ่ย นนทรี

เผยแพร่




ฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 29 ปิดฉากลงไปแล้ว โดย “ลูกแม่รำเพย” เทพศิรินทร์ คว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี และถือเป็นอีกครั้งที่การแข่งขันรายการนี้ ที่มีอายุยาวนานถึง 55 ปี ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในเกือบทุกด้าน

การแข่งขันฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคีเป็นความคิดริเริ่มของ โปร่ง ส่งแสงเติม อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กับอารีย์ เสมประสาท อาจารย์ใหญ่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จากนั้นได้มาขอความร่วมมือจาก บุญอวบ บูรณะบุตร อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และ บรรณา ชโนดม อาจารย์ใหญ่โรงเรียนอัสสัมชัญ ให้ร่วมกันจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่าง 4 สถาบัน เพื่อเชื่อมความสามัคคีของครูอาจารย์และนักเรียนทุกฝ่าย โดยเริ่มจัดขึ้นในปี 2507 เป็นครั้งแรก

20 ปีที่รอคอย!! “เทพศิรินทร์”คว้าเเชมป์จตุรมิตร ครั้งที่ 29

“กัน นภัทร” หวนวันวานกลับคืนถิ่นเก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย


คำว่า “จตุรมิตร” ในความหมายของศิษย์เก่าและปัจจุบันของทั้ง 4 สถาบัน มันคือ “ศักดิ์ศรี” อันยิ่งใหญ่ ที่ไม่ได้หมายความถึงเพียงแต่เกมฟุตบอลในสนามเท่านั้น หากยังรวมถึงเรื่องนอกจากอย่างเรื่องของ การแปรอักษร และกองเชียร์ ที่ทุกโรงเรียนต่างให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน วลีอมตะ “แพ้ที่ไหนแพ้ได้ แต่ห้ามแพ้ในจตุรมิตร” จึงถูกนิยามขึ้น ที่หมายถึงการสู้อย่างสุดชีวิต เพื่อนำชัยชนะในทุกๆ ด้านกลับมาสู่สถาบันอันเป็นที่รักของตัวเอง


ในเกมฟุตบอล หวดกันไฟแลบ ใส่กันชนิดลืมตายชนิดน้องๆ ศึกแดงเดือด หรือเอล กราซิโก ขณะที่การแปรอักษรทุกสถาบันต่างระดมเทคนิคและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุดเข้ามาเพื่อทำให้ภาพของตนเองงดงามกว่าโรงเรียนอื่นๆ แข่งกันตั้งแต่ยกแรกว่าใครสามารถเปิดสแตนด์เชียร์ แปรอักษรภาพแรกได้ก่อนกันเลยทีเดียว ส่วนกองเชียร์ก็ทำทุกวิถีทางในการประชาสัมพันธ์เพื่อระดมคนเข้ามาเป็นกำลังใจให้สถาบันของตัวเองให้มากที่สุด ร้องเพลงเชียร์ดังที่สุดเพื่อข่มขวัญฝ่ายตรงข้ามและเป็นพลังผลักดันให้ผู้เล่นของตัวเองก้าวสู่ชัยชนะ

ด้วยเดิมพันที่สูงลิบ แถมทั้ง 4 สถาบันก็เป็นโรงเรียนชายล้วน เรื่องที่จะให้เชียร์แบบสุภาพเรียบร้อยเต็มร้อยเปอร์เซนต์คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ มี “ช็อตหลุด” ด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือแจกของชำร่วยกันเป็นระยะ แถมในยุคก่อนๆ ยังเลยเถิดถึงขั้นมีการปะทะกันทั้งในและนอกสนาม กลายเป็นข่าวใหญ่มาแล้วก็ยังมี

เรื่องดังกล่าวผู้ที่รับผิดชอบของทั้ง 4 สถาบัน ก็หาได้นิ่งเฉย พยายามงัดทุกมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างกรณีนักเตะทะเลาะวิวาทกันในสนาม ก็ลดความเสี่ยงด้วยการจัด “แคมป์จตุรมิตร” จับนักฟุตบอลทุกทีมไปกินนอน ทำกิจกรรมร่วมกัน ส่วนกองเชียร์ก็วางกำลังรักษาความปลอดภัยเป็นจุดๆ มีตำรวจมาคอยช่วยดูแล ก็ทำให้ปัญหานี้ในพักหลังแทบไม่เคยเกิดขึ้น


แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม้ว่าการจัดจตุรมิตรแต่ละครั้งอาจจะมีเหตุติดขัดเกิดขึ้นมากมาย เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แต่สุดท้ายผลลัพธ์ที่ออกมาก็เป็นที่ผู้ริเริ่มจัดการแข่งขันของทั้ง 4 สถาบัน ตั้งเป็นวัตถุประสงค์เอาไว้เมื่อ 55 ปีก่อน คือ แม้บอลจะเตะกันแทบตาย กองเชียร์ด่ากันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง แต่สุดท้ายพวกเราก็รักกัน


นั่นเพราะทั้ง 4 สถาบัน ถูกหล่อหลอมมาในเบ้าที่คล้ายคลึงกัน คือ สปิริตนักกีฬา และความเป็นสุภาพบุรุษ 2 ปีก่อน เทพศิรินทร์ได้อันดับสุดท้าย แพ้สวนกุหลาบ ในเกมชิงที่ 3 ขาดลอย 0-5 ถูกเด็กสวนล้อจนแทบมุดแผ่นดินหนี มาครั้งนี้เทพศิรินทร์กลับมาคว้าแชมป์ เชื่อหรือไม่ว่า คนที่เข้ามาแสดงความยินดีเป็นลำดับต้นๆ ก็คือ สวนกุหลาบ ในฐานะ “เด็กวัดไทย”

กรุงเทพคริสเตียน กับ อัสสัมชัญ ถูกขนานนามว่าเป็น “เด็กวัดฝรั่ง” เป็นคู่แข่งบารมีกันมาอย่างยาวนาน วันนี้ทั้ง 2 โรงเรียนมีเรื่องภายในต้องสะสาง ใครจะเชื่อว่าจะมีการผลิตเสื้อฟุตบอลรุ่นพิเศษ ที่เอาลายทางขาว-แดง ที่เป็นสีประจำโรงเรียนอัสสัมชัญ กับเสื้อสีม่วงขลิบทอง ที่เป็นสีประจำโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน พร้อมตัวหนังสือ #SaveBcc  และพิทักษ์สิทธิครูอัสสัมชัญ มารวมเป็นตัวเดียวกันได้


และหากคุณไปถามใครสักคนหนึ่ง ที่จบมาจาก 4 โรงเรียนนี้ ว่ามีเพื่อนสนิทจบมาจากที่ไหนบ้าง เชื่อเหลือเกินว่า จะมีไม่น้อยเลยทีเดียว ที่จะบอกว่า ก็มาจากโรงเรียนในเครือจตุรมิตรนี่แหละ เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะพูดภาษาเดียวกัน คุยกันรู้เรื่อง แถมมีเรื่องจตุรมิตรมาให้อำกันเป็นสีสันของชีวิตเสียอีก....


 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ