"รถไฟฟ้าโมโนเรล" ความหวังแก้รถติดลาดพร้าว-สำโรง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ประเทศไทย กับการนำระบบโมโนเรล แก้ปัญหารถติดลาดพร้าว - สำโรง

กรุงเทพมหานครมีรถที่ใช้งานกว่า 10 ล้านคัน จนหลายพื้นขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่รถติด เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกมาหลายสิบปี โดยเฉพาะถนนลาดพร้าว ศรีนครินทร์ สำโรง ที่ปริมาณรถหนาแน่นตลอดทั้งวัน แต่ในอนาคตปัญหานี้กำลังถูกแก้ไขด้วยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง แต่รถไฟฟ้าเส้นนี้จะเป็นรถไฟฟ้าระบบโมโนเรลสายแรกของไทย ซึ่งหลายประเทศได้นำระบบนี้มาใช้ ระบบนี้มีข้อดีอย่างไร ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร ไปติดตามจากรายงานพิเศษระบบขนส่งมวลชนประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ Straddle Monorail เป็นที่นิยมในหลายประเทศ เช่น นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เมืองแดกู ประเทศเกาหลีใต้, เมืองโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น, เซาเปาลู ประเทศบราซิล, ลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ล้วนต่างเลือกใช้โมโนเรลเป็นขนส่งมวลชนระบบรอง

โมเดลฟื้นคลอง แก้รถติด กทม. (คลิป)

เปิดใช้ปี64! “รถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีเหลือง-สายสีชมพู 2 เส้นทางแรกในไทย”

สำหรับประเทศไทยของเรา ก็ได้นำระบบโมโนเรลนี้ มาใช้สร้างรถไฟฟ้าเป็นครั้งแรก ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. โดยตัวโครงสร้างสถานีถูกออกแบบให้เหมาะกับขบวนรถ ไม่ใหญ่เกินไป รูปแบบคานทางวิ่งขนาดเล็ก สามารถวิ่งผ่านโค้งที่มีรัศมีต่ำสุดได้ 70 เมตร และความลาดชันสูงสุด 6% เมื่อใช้พื้นที่น้อยลง ทำให้ช่วยรักษาทัศนียภาพ ลดอัตราการเวนคืนที่ดินได้เป็นอย่างมาก เพื่อการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะช่วงถนนลาดพร้าว และศรีนครินทร์ ที่ขึ้นชื่อเรื่องรถติด

 

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงเส้นทาง “ลาดพร้าว-สำโรง” มีระยะทาง 30.4 กิโลเมตร มีจุดจอด 23 สถานี จะเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง หรือ Feeder Line เชื่อมโยงระบบขนส่ง 4 สายด้วยกัน ได้แก่ 1.สถานีรัชดา เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 2.สถานีลำสาลี เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตลิ่งชัน-มีนบุรี 3.สถานีพัฒนาการ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ กับรถไฟฟ้าสายตะวันออก และ 4.สถานีสำโรง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ ทำให้ช่วยกระจายความหนาแน่นของประชาชนที่ต้องการเดินทางเข้าเมือง ไปยังระบบขนส่งมวลชนหลักต่อไป

ฟากฝั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้บริหารการจราจร ก็ได้ย้ำภาพให้ชัดยิ่งขึ้นว่า ปัญหาการจราจรของกรุงเทพมหานครมีข้อจำกัดอยู่หลายปัจจัย ทั้งปริมาณรถที่เกินกว่าปริมาณพื้นผิวจราจรหลายเท่าตัว ไปจนถึงกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ซึ่งการสร้างรถไฟฟ้านั้นต้องกินพื้นที่ถนน ไปหนึ่งช่องจราจรเต็มๆ จึงทำได้เพียงประคองให้รถติดน้อยที่สุด โดยวันที่ระบบขนส่งสาธารณะพร้อมแล้ว ทุกอย่างจะดีขึ้น

สอดคล้องกับมุมมองของ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการขนส่ง จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ที่บอกว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะเป็นทางเลือกให้กับประชาชนมากขึ้นในการขนส่งผู้โดยสารเข้าออกที่พักกับในตัวเมือง ด้วยประโยชน์ของรถไฟฟ้าที่สามารถกำหนดระยะเวลาเดินทางได้ชัดเจน ซึ่งปริมาณผู้โดยสารที่ต้องการใช้รถไฟฟ้าก็มีรองรับอยู่แล้ว ขณะที่ประชาชนก็ย้ำ ก็ต้องการให้คนใช้เยอะ ราคาค่าโดยสารก็ไม่ควรสูงเกินไป

สำหรับการใช้ระบบโมโนเรลนั้น ดร.สุเมธ มองว่าค่อนข้างสอดรับกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ ลดการเวรคืนที่ดิน และระยะเวลาการสร้าง ประสิทธิภาพความจุผู้โดยสารของระบบโมโนเรลที่น้อยกว่ารถไฟฟ้าแบบเฮฟวี่เรลนั้น สามารถทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ระยะยาวจึงไม่น่าจะมีปัญหา และน่าจะเป็นเส้นทางที่ตอบโจทย์การเดินทางได้ค่อนข้างดี

แม้ขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่ในปี 2563 ก็อาจจะมีอีกข่าวดีสำหรับคนกรุง เพราะรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จะเปิดให้บริการก่อนจำนวน 4 สถานี เนื่องจากสามารถสร้างได้เร็วกว่าแผน ที่จะเปิดใช้ในเดือนตุลาคม 2564 หลังจากนั้นเราคงได้เห็นทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นว่า “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” จะเข้ามาแก้ไขปัญหาการจราจรให้กับคนกรุงฯ ได้มากน้อยขนาดไหน

ทีมข่าวเศรฐกิจ พีพีทีวี รายงาน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ