กลาโหม ยอมรับ หนังสือขอตำแหน่งสัญญาณมือถือปชช.ของจริง ใช้คุมโควิด-19
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
ผอ.สำนักนโยบายและแผน ยอมรับหนังสือ“ขอตำแหน่งสัญญาณมือถือปชช.”ของจริง แต่เป็นแนวคิดใช้คุมโควิด-19 ระลอกสอง

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 8 มิ.ย. 63
อัปเดตข่าวสถานการณ์ โควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 8 มิ.ย. 63
วันที่ 8 มิ.ย. พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน (สนผ.) กระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ออกมาเปิดเผยว่า กระทรวงกลาโหมทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือส่งข้อมูลตำแหน่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ย้อนหลัง 14 วันของผู้ติดเชื้อรายใหม่ รวมถึงข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ของทุกคนที่อยู่บริเวณเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ เพื่อส่งเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนและเพื่อดำเนินการสอบสวนโรคตามพ.ร.บ.ควบคุมโรคและพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 ว่า ยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารฉบับจริง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนโรค เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมได้มีการพูดคุยในที่ประชุมวงเล็ก โดยเรียกฝ่ายทางเทคนิคของกระทรวงกลาโหมมาสอบถามว่าสามารถเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอติดตามสัญญาณโทรศัพท์ของผู้ติดเชื้อ โควิด-19 และผู้ใกล้ชิดทั้งหมด
ซึ่งที่ประชุมได้ยกตัวอย่างกรณีสนามมวยที่มีคนเข้าร่วมชมมวยประมาณ 2,800 คน แต่จากการสอบถามกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขสามารถติดตามมาได้เพียง 800 คน ส่วนที่เหลือไม่ยอมมาตรวจและไม่สามารถติดตามตัวได้
ทั้งนี้หากเรารู้ข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์ของทั้ง 2,800 คนที่อยู่ในสนามมวย เราก็จะสามารถส่งข้อความไปแจ้งเตือนได้ทันที จนเป็นที่มาของการเชิญผู้ประกอบการค่ายมือถือทั้ง 5 ค่าย โดยมีกสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เข้ามาควบคุมอีกชั้นหนึ่งด้วยการทำโปรแกรมดังกล่าวมีกรมควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ
“ถือเป็นความหวังดีของกระทรวงกลาโหม ที่บูรณาการจัดการประชุมร่วมกันเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ จนได้ข้อสรุปว่าสามารถทำได้ จึงดำเนินการทำหนังสือแจ้งไป เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนโรค” พล.อ.รักศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีหลายฝ่ายมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน พล.อ.รักศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมไม่ได้นำข้อมูลของประชาชนไปทำอะไร เป็นเพียงการระดมความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางการป้องกันการระบาดของโรค โควิด-19 และที่สำคัญโปรแกรมดังกล่าวยังไม่ได้บังคับใช้ เพราะเพิ่งทำเสร็จเมื่อ 15 วันที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อเตรียมความพร้อมหากมีการระบาดของโรคในรอบสอง
เมื่อถามว่า ต้องขอข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์คนทั้งประเทศใช่หรือไม่ เพราะทุกคนมีความเสี่ยงทั้งหมด พล.อ.รักศักดิ์ กล่าวว่า สมมติมีผู้ติดเชื้อเดินทางโดยรถจักรยานยนต์รับจ้างไปขึ้นรถสองแถว ซึ่งบุคคลแวดล้อมเหล่านั้น ไม่รู้จักผู้ติดเชื้อ โปรแกรมดังกล่าวจะส่งข้อความไปบอกบุคคลเหล่านั้นว่าอยู่ในข่ายติดเชื้อ โควิด-19 และต้องเข้าสู่กระบวนการเฝ้าระวัง
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้