เปิดชีวิตลูกครึ่งผิวสี “เมื่อสังคมเหยียดฉันโดยไม่รู้ตัว”
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
การเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวสีที่ถูกตำรวจอเมริกันจับกุมตัว นำมาซึ่งการประท้วงใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่อันที่จริงแล้วการเลือกปฏิบัติกับคนผิวสี หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ก็เป็นปัญหาที่มีอยู่ในประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน

โดยตั้งแต่เกิดและเติบโตใน จ.นครราชสีมา เอพริล คำมิ่ง ลูกครึ่งผิวสี สัญชาติไทย-อังกฤษ มักถูกคนรอบข้างจ้องมองด้วยสายตาแปลก ๆ เสมอ หลายครั้งที่ครอบครัวเธอถูกคนอื่นเรียกด้วยคำต้องห้ามที่คนขาวใช้เรียกทาสผิวสีในอดีต
ผู้คนในหลายประเทศทั่วโลกร่วมประท้วงการตายของ “จอร์จ ฟลอยด์”
“ก็อย่างเช่น สมมติอย่างบ้านเรา เราก็จะเป็นครอบครัวเดียวที่คุณพ่อเป็นคนผิวสี สมมติว่าถ้าเขาถามหาว่าบ้านเราเป็นบ้านไหน เขาก็จะใช้คำพูดที่อาจจะฟังดูไม่เข้าท่า แทนที่จะเรียกว่าเป็นคนผิวสี เขาก็จะเรียกเป็นคำนั้นที่เริ่มต้นด้วยตัว N ซึ่งพอเราได้ยิน ด้วยความที่พ่อเราเป็นคนผิวสี เราก็เจ็บจี๊ด แต่พอเจ็บจี๊ดแล้วเหมือนพูดไม่ออก ก็ไม่รู้ว่าจะพูดยังไง ก็ได้แค่เก็บไว้แล้วทำใจว่าเขาไม่รู้”
ขณะที่ในมุมมองของเอพริล ปัจจุบันคนไทยดูเหมือนจะยอมรับคนผิวสีมากขึ้น แต่ในสื่อกระแสหลักตัวละครที่ได้รับบทนำก็ยังเป็นคนผิวขาว ค่านิยมแบบนี้กระทบโดยตรงกับพี่สาวของเธอที่มีความฝันอยากเป็นนักร้อง จนประกวดได้รางวัลรองชนะเลิศของเวทีแข่งขันระดับประเทศ แต่ต้นสังกัดไม่ผลักดันเพราะสีผิวไม่เข้ากับค่านิยมของคนไทย
“พอเขาได้รางวัลมาแล้ว ทางเวทีเขากลับไม่ดัน กลับไม่ให้งานเท่าไหร่ เพราะเขามองว่า อันนี้พี่สาวเล่าให้เราฟังมาอีกทีหนึ่ง เขาบอกว่า พี่สาวเราขายไม่ออกหรอก คือถ้าเป็นผู้หญิง จะต้องขาว จะต้องเป็นแบบเกาหลี จะต้องเป็นสายแบบนั้นเท่านั้นถึงจะขายออก ถ้าเป็นแบบพี่สาวเรามันขายยาก”
เข่ากดคอ วิธีจับกุมสุดโหดของตำรวจสหรัฐฯ
คนดังสหรัฐฯ ไว้อาลัย “จอร์จ ฟลอยด์” ประท้วงเหยียดสีผิว
อย่างไรก็ตามแม้ครอบครัวจะถูกเลือกปฏิบัติเพราะสีผิว แต่เธอรับมือกับมันด้วยความเข้าใจ เพราะมองว่าไม่ใช่ทุกคนที่เจตนา แต่เป็นที่ระบบการศึกษาไทยไม่ได้ปลูกฝังความเข้าใจในสิทธิมนุษยชนและการเคารพความแตกต่าง ทำให้หลายครั้งการกระทำของเรากลายเป็นการเหยียดคนอื่นโดยไม่ตั้งใจ
การเลือกปฏิบัติในสังคมไทย ไม่ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มคนผิวสีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และบางครั้งระดับของการเลือกปฏิบัติก็ขยายวงกว้างไปจนถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียม หรือที่เรียกว่า “Racial Profiling”
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า หลายครั้งที่การบังคับใช้กฎหมายดูจะเข้มข้นขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์และผู้ที่มีความเชื่อแตกต่าง เช่น ชาวเขามักถูกเจ้าหน้าที่รัฐมองว่าเป็นผู้ทำลายป่า ขณะที่ชาวมุสลิมก็มักจะถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ
“หรือในสามจังหวัดเราจะมีด่าน ด่านตรวจรักษาความปลอดภัย ทั้งด่านของฝ่ายปกครองทหาร แล้วก็ตำรวจ บุคคลที่จะถูกหยุดรถมอเตอร์ไซค์เพื่อตรวจ อาจจะเป็นผู้ที่แต่งกายมุสลิม เป็นผู้ชาย ใส่หมวก ใส่ชุดโต๊ป ใส่ชุดที่เขาจะไปปฏิบัติศาสนกิจ แต่ถ้าเป็นผู้ชายใส่หมวกแก๊ป ใส่แว่น ตาดำ ใส่กางเกงขาสั้น ก็จะผ่านด่านได้โดยง่าย เพราะ Racial Profiling ของเขาไม่ตรงกับข้อสันนิษฐานของรัฐว่าเขาจะเป็นผู้กระทำความผิด”
ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มองว่า ทางแก้เรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงสังคมต้องเปลี่ยนค่านิยมและเคารพในความแตกต่างเท่านั้น แต่ต้องแก้ไขกฎหมายให้คนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
ภูมิภาค แพรม้วน / พิริยะ ม่วงยิ้ม ถ่ายภาพ
นงนภัส พัฒน์แช่ม รายงาน
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้