“ถาวร” แฉทุจริต "การบินไทย" วัดใจ ป.ป.ช.
สหภาพฯ เผย เป็นพนักงานการบินไทย ไม่ได้สุขสบายอย่างที่คิด
กรณีการขาดทุนของการบินไทย จนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้คำสั่งศาลล้มละลายกลาง หลังพ้นสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการและปัญหาทุจริตบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผู้มาให้ข้อมูลทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผยกว่า 100 คน
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตั้งโต๊ะแถลงผลการตรวจสอบ ระบุว่า จุดเริ่มต้นของการขาดทุน 62,803 ล้านบาท เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2551 ที่ขาดทุนถึง 21,450 ล้านบาท หลังซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ เป็นปัญหาขาดทุนทุกเส้นทางบินตั้งแต่จัดซื้อ / และยังไม่ให้ความสำคัญกับมติคณะรัฐมนตรี ปัญหาการจ่ายสินบนโรลส์-รอยซ์ ให้พนักงานการบินไทยเพื่อเอื้อจัดซื้อเครื่องยนต์ / และมีข้อมูลการจ่ายเงินสินบน 2,652 ล้านบาทให้นักการเมือง เจ้าหน้าที่ และพนักงานงาน
ถัดมาในปี 2560 - 2562 มีการส่อทุจริตอีกจำนวนมาก เช่น ค่า OT พบพนักงานทำได้สูงสุด 3,354 ชั่วโมงต่อปี หรือเท่ากับมีวันทำโอที 419 วัน แต่หนึ่งปีมีเพียง 365 วัน การจัดหาเครื่องบินแบบเดียวกัน 6 ลำ แต่กลับมีส่วนต่างราคา 589 ล้าน มีรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้รับเงินพิเศษ 200,000 บาทต่อเดือน ผ่านไป 9 เดือน ได้เงินเพิ่มเป็น 600,000 บาท โดยอ้างเป็นแนวปฎิบัติกันมา พร้อมอนุมัติค่าตอบแทนดังกล่าวให้อดีตผู้ที่เคยรักษาการ พร้อมรถประจำตำแหน่ง คนขับ และค่าน้ำมัน รวมถึงการขายตั๋ว ที่มีการเอื้อให้กับดีลเลอร์ 3-4 ราย มีการจัดตั้งกองทุนพิเศษขึ้นมาให้เอื้อประโยชน์ค่าคอมมิชชันกันเอง
นอกจากนี้ ยังมีการเช่าเครื่องบิน B787-800 จำนวน 6 ลำ ที่มีส่วนต่างราคาถึง 589 ล้านบาท การส่อเอื้อประโยชน์ในการขยายอายุสัญญาสินค้าปลอดภาษีให้เอกชน เสียหายกว่า 655 ล้านบาท ขณะที่การจัดซื้อวัตถุดิบของครัวการบินไทย ปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท ผูกขาดเอกชนไม่กี่รายเท่านั้น ซึ่งมีข้อมูลว่ามีการจัดซื้อมะนาวลูกละ 8 บาทโดยทำสัญญาระยะยาว โดยให้เหตุผลว่ากลัวมะนาวขาดตลาด
สวนทางกับราคามะนาวในท้องตลาดที่ปรับขึ้นลง 2-4 บาท เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการสายการบินไทยสมายล์ ที่ขาดทุนนับตั้งแต่เริ่มต้นกิจการสะสมไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท ไปจนถึงการบริหารงานบุคคลที่ผิดพลาด ในปี 2560-2562 ตลอด 3 ปีพนักงานลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ค่าใช้จ่ายกลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น ไปจนถึงการบริหารงานบุคคลที่ผิดพลาด ในปี 2560-2562 ตลอด 3 ปีพนักงานลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ค่าใช้จ่ายกลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น ค่าล่วงเวลานักบินกับลูกเรือเพิ่มขึ้น 638 ล้านบาท ค่าโอทีช่างเพิ่มขึ้น 530 ล้านบาท ค่าตอบแทนพนักงานเฉลี่ยต่อคนสูงถึง 129,134 บาทต่อเดือน
สำหรับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ไม่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายแล้ว จึงตั้งประเด็นสำคัญที่อาจเป็นเหตุให้การบินไทยประสบปัญหาขาดทุนต่อไป เช่น ผู้บริหารบางคนของบริษัท ร่ำรวยผิดปกติ และบางคนส่อมีบัญชีเงินฝากและทรัพย์สินราคาสูงในต่างประเทศ การจัดซื้อ อุปกรณ์บนเครื่องบิน ปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท ส่อทุจริตสินค้าด้อยคุณภาพ มีการแต่งตั้งเครือญาติ บุตร คนใกล้ชิดที่ไม่มีความรู้เข้ามาทำงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะรายงานผลการตรวจสอบ ต่อกระทรวงการคลัง , คณะกรรมการ ป.ป.ช. , ป.ป.ท. และ นายกรัฐมนตรี ภายในวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคมนี้ เพื่อดำเนินการได้อย่างเด็ดขาด เพื่อเป็นบทเรียนในการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และเป็นบทเรียนในการวางแผนบริหารงานรัฐวิสาหกิจในอนาคตต่อไป
ขณะที่ วันนี้ (28 ส.ค.) คณะผู้บริหารสายการบินในประเทศไทย 7 สายการบิน ประกอบด้วย สายการบิน บางกอกแอร์เวย์ส ,ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์,นกแอร์, ไทยสมายล์ ,ไทยเวียตเจ็ท และไทยไลอ้อนแอร์ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจการบินของประเทศไทย หลังได้รับจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
หลังการหารือ นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยแอร์เอเชีย บอกว่า จากได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี ทำให้วันนี้สายการบินยิ้มได้ เพราะนายกรัฐมนตรีรับปากช่วยธุรกิจสายการบิน ใน 3 ประเด็นหลัก คือ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลน การขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน และ ลดหย่อนค่าธรรมเนียมสายการบิน เช่น ค่าท่าอากาศยานลงจอดฟรี หรือขึ้นบินฟรี บริการท่าอากาศยานต่างๆ ทำให้ฝั่งผู้ประกอบการยืนยันว่า จะไม่เอาพนักงานออก ขณะที่สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ได้มา 2 หมื่น 4 พันล้านบาท จะนำใช้เรื่องสภาพคล่องของธุรกิจการบิน โดยครึ่งหนึ่งจะเป็นเงินเดือนพนักงาน คาดว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจไปได้อีกอย่างน้อย 1 ปี และจะใช้คืนได้ภายใน 5 ปี