วันที่ 23 ก.ย. 2563 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อท.196/2561 คดีฟอกเงินทุจริตจัดสรรงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ของวัดสามพระยา ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปราบการทุจริต 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเอื้อน กลิ่นสาลี อดีตพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา, กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร กับนายสมทรง อรรถกฤษณ์ อดีตพระอรรถกิจโสภณ และเลขาเจ้าคณะกรุงเทพ เป็นจำเลยที่ 1-2
ศาลสั่งจำคุก 6ปี “อดีตพระพรหมดิลก"ฟอกเงินทอนวัด
ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานฯ, ร่วมกันฟอกเงินอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กรณีร่วมกันฟอกเงิน จากการทุจริตจัดสรรเงินงบประมาณ พศ. ปี 2557 ให้กับวัดสามพระยา จำนวน 5 ล้านบาท ในงบส่วนอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งที่ไม่มีโรงเรียน โดยเจ้าอาวาสวัดสามพระยา นำงบที่ได้มานั้นไปใช้ก่อสร้างอาคารร่มธรรมแทน ทั้งที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินนั้นมาตั้งแต่แรก ซึ่งอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2561
ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562 ว่า กระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดต่างกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายมาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันฟอกเงิน 2 กระทงๆ ละ 2 ปี ให้จำคุกนายเอื้อน หรือ อดีตพระพรหมดิลก รวมจำคุก 6 ปี และนายสมทรง หรืออดีตพระอรรถกิจโสภณ จำเลยที่ 2 จำคุก 2 กระทงๆ ละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี
วันนี้จำเลยทั้งสองซึ่งได้รับการประกันตัว สวมชุดขาวเดินทางมาศาล พร้อมมีกลุ่มพระสงฆ์และกลุ่มฆราวาสเดินทางมาร่วมติดตามฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจจำเลย
“พระพรหมดิลก” ปฏิเสธตอบปมเอี่ยวทุจริตเงินทอนวัด
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เรื่องการขออนุมัติงบศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น หาใช่เฉพาะวัดที่มีโรงเรียนศึกษาพระปริยัติธรรม แต่วัดสามพระยามีโรงเรียนสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ย่อมมีสิทธิ์ในการใช้งบดังกล่าว จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวกับสำนักงาน พศ. ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยทราบว่าเงินเกี่ยวกับการกระทำความผิด ในหนังสือระบุได้รับเงินเกี่ยวกับการบูรณะปฏิสังขรณ์ แสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าเป็นงบบูรณะปฏิสังขรณ์ เมื่อได้รับงบ 5 ล้านบาทตามเช็คแล้ว จำเลยได้มอบอำนาจให้มีการถอนเงินจ่ายค่าก่อสร้างอาคารร่มธรรม วัดมีการก่อสร้างอาคารและโอนเงินชำระหนี้จริง
โดยจำเลยจ่ายเงินให้ผู้ดูแลการก่อสร้าง เชื่อได้ว่าจำเลยในฐานะผู้ดูแลวัดได้นำเงินไปทำนุบำรุงวัด แม้วัดสามพระยาไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม และไม่ได้นำเงินไปใช้โดยตรง ก็ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนทรัพย์สินที่เป็นการกระทำความผิดมูลฐานฟอกเงิน
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ พิพากษาแก้เป็นยกฟ้อง
ภายหลังพิพากษาแล้ว นายสมทรง หรืออดีตพระอรรถกิจโสภณ จำเลยที่ 2 ถึงกับยกมือไหว้และร่ำไห้ด้วยความดีใจ รวมถึงพระสงฆ์และกลุ่มฆราวาสที่เดินทางมาให้กำลังใจก็ร่วมแสดงความยินดีด้วย