คาดเหตุเสียงดังสนั่น จ.สระแก้ว เกิดจาก ดาวตก "shock wave"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




"มิสเตอร์ว็อบ" ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ ชี้เหตุเกิดเสียงดัง-กระจกสั่น ที่จ.สระแก้ว เกิดจาก shock wave ดาวตกขนาดไม่เกิน 10 เมตรระเบิดในชั้นบรรยากาศ ชี้เหตุดังกล่าวคล้ายช็อกเวฟเดือนกุมภาพันธ์ 2013 แต่ครั้งนี้ไม่รุนแรง



วานนี้(8 ก.ค. 58) เวลาประมาณ 17.30 น. จ.สระแก้ว เกิดเสียงดังคล้ายกับเสียงระเบิดทั่วทั้งจังหวัดโดยไม่ทราบสาเหตุ จนเหล่าโซเชียลแห่แชร์โพสต์ว่อนโลกออนไลน์ถึงปรากฎการณ์ที่น่าทึ่งดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอะไร เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวเน็ต มีการคาดการณ์ไปต่างๆนานาว่า อาจเกิดจากอุกกาบาตตกลงมา หรือ เสียงเครื่องบิน F-16


ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก Sakaeo ซึ่งเป็นเพจที่นำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับ จ.สระแก้ว ได้ออกมาโพสต์ถึงกรณีนี้ว่า พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผบก.ภ.สระแก้ว ได้รับแจ้งจากประชาชนทั่วทั้งจังหวัดในทุกพื้นที่ 9 อำเภอว่า ได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิดเสียงกึกก้อง 1 ครั้ง บนท้องฟ้าและทำให้กระจกสั่นสะเทือนตามไปด้วย จนสร้างความแตกตื่นตกใจแก่ผู้คนทั่วไป พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกหน่วยทุกสภ. ทั้งจังหวัด เร่งออกตรวจสอบความเสียหายและสืบสวนหาข่าวตรวจสอบพิกัดที่มาของเสียงระเบิดดังกล่าวว่าเกิดจากการซ้อมรบของทหารหรือไม่อย่างไร โดยล่าสุด กองทัพอากาศ ได้ยืนยันแล้วว่าไม่มีเครื่องบินบินผ่านมาน่านฟ้าพื้นที่จังหวัดสระแก้วแต่อย่างใด


ด้านมิสเตอร์ว็อบ (Mr.VOP) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภัยพิบัติ เปิดเผยกับทีมข่าว "PPTVHD" ว่า จากประสบการณ์ที่ติดตามเรื่องนี้มา คาดว่า หากไม่ใช่เสียงโซนิคบูมที่เกิดจากเครื่องบิน มีโอกาสที่จะเป็นเสียงของ shock wave ซึ่งเกิดจากการระเบิดของเทหวัตถุ พวกสะเก็ดดาวหรือดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กประมาณไม่เกิน 10 เมตร ในบรรยากาศชั้นบนที่สูงจากพื้นดินขึ้นไปหลายกิโลเมตร


มิสเตอร์ว็อบ กล่าวต่อว่า ในช่วงตอนที่เกิดเป็นช่วงที่ยังมีแสงอาทิตย์ ดังนั้นทุกคนจะไม่เห็นการระเบิด แต่จะได้ยินเสียง และมีแรงอัดอากาศลงมาเป็นสาเหตุที่ทำให้กระจกสั่นสะเทือน ซึ่งคนไทยนิยมเรียกว่าอุกกาบาต แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ จะเรียกอุกกาบาต ก็ต่อเมื่อตกถึงพื้นแล้วระเบิด แต่ลักษณะนี้เรียกว่าดาวตก คือก้อนหินจากอวกาศเข้ามา บางลุกจะไม่ระเบิดที่พื้น แต่จะระเบิดในชั้นบรรยากาศ เนื่องจากเสียดสีกับความร้อนสูงหลายพันองศา ถ้าตกที่พื้นจะเป็นหลุม ถ้าตกในชั้นอากาศจะเกิด shock wave



"ดูคลิปตัวอย่าง shock wave เดือนกุมภาพันธ์ 2013 จะเป็นลักษณะแบบนี้ แต่ใหญ่กว่าครั้งนี้มาก ลูกนั้นประมาณ 17 เมตร แต่ลูกนี้คาดว่าไม่ถึง 10 เมตร ลักษณะในตอนนั้นระเบิดเหนือพื้นดิน 27 กิโลเมตร เกิดช็อกเวฟ เป็นเสียงดัง และมีอากาศอัดลงมา ทำให้กระจกกับหลังคาแตก" มิสเตอร์ว็อบ กล่าว



สำหรับการคาดการณ์ มิสเตอร์ว็อบ กล่าวว่า เป็นการระเบิดของดาวตก เพราะถ้าเป็นการระเบิดของดาวตกจริง แล้วเกิดช็อกเวฟ ลูกจะไม่ใหญ่มาก ไม่น่าจะเกิน 10 เมตร แต่ถ้าเกิน 10 เมตรจะแรงกว่านี้มาก ทำให้กระจกแตก และอาจมีคนบาดเจ็บ


นอกจากนี้ มิสเตอร์ว็อบ กล่าวต่อว่า ตนได้ตั้งข้อสงสัยหลายอย่าง อาจจะเป็นเสียงที่ดังมาจากโซนิคบูม หรือก็คือเครื่องบินช่วงที่กำลังบินผ่านความเร็วเสียง จะชนกับกำแพงเสียงของตัวเอง เกิดเป็นโซนิคบูมขึ้นมา ทำให้เกิดเสียงดัง แต่กรณีนี้ทางกองทัพอากาศก็ออกมาปฏิเสธแล้วว่าในช่วงระยะเวลานั้นไม่มีเครื่องบินบินผ่าน


สำหรับกรณีที่มีหลายคนคาดการณ์ว่าเป็นเสียงของฟ้าผ่า มิสเตอร์ว็อบ กล่าวว่า ขณะที่เกิด shock wave จะเกิดการกระตุ้นแวบเดียว เหมือนฟ้าแลบ คือจังหวะที่ระเบิด จะเกิดฟ้าแลบช่วงสั้นๆ และจะเป็นแรงอัดอากาศ หรือเมื่อท้องฟ้าสดใส อาจจะเกิดฟ้าผ่าได้เช่นกัน แต่จะเป็นฟ้าผ่าแบบประจุบวก คือก้อนเมฆจะอยู่ไกลหลายกิโลเมตร แต่ว่าสายฟ้าจะผ่าคาดมากลางอากาศ จะให้ลักษณะที่คล้ายกัน คือ กระจกสั่นสะเทือนและมีเสียงดัง


มิสเตอร์ว็อบ กล่าวเพิ่มเติมว่า เสียงที่เกิดขึ้น หากได้ยินตลอดทั้งวัน น่าจะเกิน 90 เดซิเบล แล้วแต่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล หากไกลหน่อยเสียงก็เบาลง อยู่ที่คนฟังว่าอยู่ระยะประมาณไหน แม้ว่ายังไม่มีฝ่ายไหนทราบว่าเป็นเสียงอะไร ต่างฝ่ายก็ให้น้ำหนักกันไป แต่ตนให้น้ำหนักไปทางดาวตก กับ shock wave


อย่างไรก็ตาม มิสเตอร์ว็อบ กล่าวว่า หากจะเช็กว่าเป็นเสียงฟ้าผ่าหรือไม่ ต้องตรวจจากเรดาร์ ดูกลุ่มเมฆฝนเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 58 ว่าอยู่ตรงไหน ห่างขนาดไหน แต่ถ้าบริเวณนั้นไม่มีเลย ก็สามารถตัดประเด็นฟ้าผ่าออกไปได้เลย และกองทัพอากาศยืนยันแล้วว่าช่วงเวลานั้นไม่มีเครื่องบินบินผ่าน ก็ตัดโซนิคบูมออกไป จะเหลือแต่ช็อกเวฟ แต่ก็ตรวจสอบได้ยาก เพราะไม่สามารถเช็กได้ว่าดาวตกจะเกิดที่ไหน ตรงไหนก็สามารถเกิดดาวตกได้ทั้งนั้น


สำหรับอันตรายที่จะเกิดขึ้นนั้น มิสเตอร์ว็อบ กล่าวว่า หากเป็นลูกเล็กก็ไม่เป็นอันตรายมาก มีแต่เสียงกับกระจกสั่นๆ แต่หากเป็นลูกใหญ่ก็อาจมีคนบาดเจ็บ


TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ