จ่อชง "Virtual Single Gateway" แทน "Single Gateway" แก้ปมชาวเน็ตถล่มต้าน ?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รัฐจ่อชง Virtual Single Gateway ตั้งศูนย์วอร์รูมให้โอเปอร์เรเตอร์ร่วมกันทำงานคุมความมั่นคง แก้ปัญหาชาวเน็ตถล่มต้าน Single Gateway แต่ความจริงอาจไม่แตกต่าง!


"วิชวล ซิงเกิล เกตเวย์ (Virtual Single Gateway) กับ ซิงเกิล เกตเวย์ Single Gateway เหมือนกันทุกอย่าง แต่ที่แตกต่างคือให้โอเปอร์เรเตอร์มารวมกลุ่มกันทำงานแก้ไขปัญหา เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ แต่จะให้มาอยู่ในศูนย์กลางเพื่อสามารถตอบสนองเหตุการณ์ต่างๆรวดเร็ว"


พ.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บังคับการ กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี (บก.สสท.) สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สทส.) กล่าวกับทีมข่าว PPTVHD หลังเกิดกรณีชาวเน็ตถล่มเว็บไซต์รัฐบาลหลายแห่งวานนี้ (30 ก.ย.58) (อ่านต่อ นัดถล่มเว็บรัฐอีก! ชาวเน็ตรวมพลังต่อต้าน "Single Gateway" ไม่หยุด! สะเทือน คสช. http://www.pptvhd36.com/news/15648 ) ว่า


ขณะนี้กำลังเสนอทางออก การควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต เป็นแบบที่เรียกว่า วิชวล ซิงเกิล เกตเวย์ (Virtual Single Gateway) คือ เหมือนกับ ซิงเกิล เกตเวย์ ทุกอย่าง แต่ให้โอเปอร์เรเตอร์เข้ามามีส่วนร่วม โดยมารวมกลุ่มกันทำงานแก้ไขปัญหา เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ แต่จะให้มาอยู่ในศูนย์กลางเพื่อสามารถตอบสนองเหตุการณ์ต่างๆรวดเร็ว ไม่เหมือนซิงเกิล เกตเวย์ที่ภาครัฐจะควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตเพียงเจ้าเดียว


"ซิงเกิล เกตเวย์ คือรวมมาอยู่ที่เดียว อาจจะกระทบสัมปทานและล่าช้า ส่วน วิชวล ซิงเกิล เกตเวย์ คือตั้งศูนย์ปฏิบัติการหรือวอร์รูมมาผู้ให้บริการในไทยทั้งหมด แล้วเอาเจ้าหน้าที่มาประจำ เวลาเจอประเด็นเรื่องของความมั่นคงก็ใช้ฟิวเตอร์ไปตรงนั้น โดยให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนสั่งการ เพราะของเดิมกว่าจะพูดคุยรู้เรื่องหรือสั่งการในเวลานับเดือน หรือเป็นอาทิตย์ ซึ่งไม่ทันการ บางครั้งจะดำเนินคดีกับคนร้ายกว่าจะหาข้อมูลได้ หรือส่งมาจะใช้เวลานาน ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความมั่นคงได้ทัน และทำให้กลไกล่าช้า" พ.ต.อ.นิเวศน์ กล่าว


สำหรับข้อเสนอ วิชวล ซิงเกิล เกตเวย์ ยังไม่เสนอเป็นทางการ แต่ได้มีการพูดคุยกับทาง กสทช.และทางผู้ใหญ่ที่มีการเสนอทางออกการควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต แทนที่จะสุดขั้วเสรีเข้มงวด มาอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องความมั่นคงก็ต้องตอบสนองรวดเร็ว ถ้าทำแบบนี้คาดเดือนหน้า (พฤศจิกายน) จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที


ทั้งนี้ในส่วนของปฏิบัติการถล่มเว็บไซต์ของชาวเน็ต ใครจะผิด?


พ.ต.อ.นิเวศน์ กล่าวว่าเป็นการโจมตีแบบ DDoS (Distributed Denial of Service) จะผิดตามหลักกฎหมาย แต่ต้องแยกประเด็น ซึ่งกรณีนี้ทำคนเดียวจะไม่สำเร็จ เนื่องจากไม่ใช่คนคนเดียวเข้าไปควบคุมทั้งหมด เพราะฉะนั้นอาจจะไม่เข้าองค์ประกอบของกฎหมาย ซึ่งดีไนล์ออฟเซอร์วิส กฎหมายระบุว่าจะต้องเป็นคนที่เขาสามารถควบคุมคอมพิวเตอร์ครั้งละหลายๆเครื่อง อาจควบคุมในหลักร้อย หรือหลักล้านเครื่อง และสั่งให้ทั้งหมดไปโจมตีพร้อมกัน เรียกว่ามีเจตนาทำความผิดชัดเจน


รองผู้บังคับการ กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยีฯ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มีการนัดหมายกันคนละคลิกสองคลิกจะพิสูจน์เจตนายาก ซึ่งตรงนี้เป็นเหมือนช่วยกัน คนเดียวไม่สามารถทำให้การกระทำผิดนั้นสมบูรณ์ได้ เช่น บางคนอาจจะบอกว่าแค่เข้าไปดูเฉยๆ จะพิสูจน์เจตนายาก ทั้งหมดอยู่ที่มุมมองของนักกฎหมาย แต่ตนมองว่าจะไปฟันธงไม่ได้ ตนมองว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ใช่แบบนั้น และคนแต่ละคนที่เข้ามาทำให้เว็บล่มต้องเป็นหลักแสนขึ้น จะไปดำเนินคดีกับใครเป็นแสนคน


กับคำถามที่ว่า หากดำเนินการเอาผิดกับคนที่ปลุกระดมข้อความคนแรก หรือต้นตอสามารถเอาผิดได้หรือไม่ พ.ต.อ.นิเวศน์ กล่าวว่า คนแรกอาจจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ได้ เพราะว่าเป็นตัวการ และจุดกระแสกำหนดเป้าหมาย หากพิสูจน์ได้


สำหรับรัฐจะดำเนินคดีได้หรือไม่ ในมุมของกฎหมาย ตนมองว่า น่าจะได้ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เกี่ยวกับความมั่นคง เหตุเพราะมีการปลุกระดม ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก แล้วนโยบายดังกล่าวก็อาจไม่เกิดขึ้นจริง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี


"ผมมองว่ารัฐบาลอาจจะไม่ดำเนินคดี แต่น่าจะหาทางออกในการแก้ไขปัญหามากกว่า" พ.ต.อ.นิเวศน์ กล่าว



----------------------------------


TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ