​เปิดตำนาน "ลุงต่วย" เบื้องหลังความสำเร็จกว่า 45 ปี ของ "ต่วย'ตูน"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดเรื่องราวชีวิตของ นายวาทิน ปิ่นเฉลียว หรือ ต่วย หลังเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 4 ต.ค.58 ด้วยวัย 85 ปีจากอาการป่วยเรื้อรังที่รักษาตัวมานาน ซึ่งนายวาทิน เป็นผู้ก่อตั้ง "ต่วย'ตูน" พอกเก็ตแมกกาซีนชื่อดัง ผ่านสายตา เก่ง ประลองพล บรรณาธิการผู้ช่วย ต่วย'ตูน ถึงเบื้องหลังความเป็นมา ก่อนที่จะกลายมาเป็นหนังสือที่ครองใจคนไทยมานานกว่า 45 ปี


ประลองพล เพี้ยงบางยาง หรือ เก่ง ประลองพล บรรณาธิการผู้ช่วยของนิตยสารต่วย'ตูน ให้สัมภาษณ์กับ "ทีมข่าว PPTVHD" ว่า ปกติแล้ว "ลุงต่วย" เป็นคนชอบเขียนการ์ตูน ในช่วงที่ลุงต่วยเป็นนักศึกษาในคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนการ์ตูนแก๊กแนวขำขัน ส่งไปลงตามหนังสือต่างๆ ที่สำคัญคือหนังสือชาวกรุงของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อีกทั้งยังเขียนภาพประกอบเรื่องให้กับหนังสือในยุคนั้น


งานที่โดดเด่นจะเป็นงานเขียนการ์ตูนที่ใช้ปากกาเขียน ซึ่งประยุกต์จากการใช้เขียนแบบในวิชาสถาปัตยกรรม เพราะว่าในยุคนั้นนักเขียนส่วนมากยังใช้พู่กันในการวาดรูปอยู่ จึงทำให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านในยุคนั้น


บรรณาธิการผู้ช่วย ต่วย'ตูน กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ผลงานการเขียนการ์ตูนของ "ลุงต่วย" เริ่มมีชื่อเสียงและมีผลตอบรับจากนักอ่านดีแล้ว "ลุงต่วย" และเพื่อนๆ จึงชวนกันทำการรวมการ์ตูน ที่เคยลงในนิตยสารต่างๆ โดยเฉพาะในนิตรสารชาวกรุง ลงพิมพ์ขายในชื่อ "รวมการ์ตูนของต่วย" เพื่อหาเงินใช้กันสนุกๆ และได้รับผลตอบรับที่ดี


ทว่าพอรวมกันไปได้หลายเล่ม การ์ตูนที่ "ลุงต่วย" ทั้งที่เคยวาดไว้ และวาดใหม่ เกิดมีจำนวนไม่พอที่จะรวมเล่มต่อๆไป นายประเสริฐ พิจารณ์โสภณ เพื่อนของลุงต่วย จึงให้คำแนะนำว่า ควรเอาเรื่องสั้นมาลงในหนังสือด้วย ถ้าหากการ์ตูนที่ "ลุงต่วย" วาดนั้นมีจำนวนไม่เพียงพอ "ลุงต่วย" จึงไปขอเรื่องสั้นจากนักเขียนที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น โดยจะเป็นเรื่องเก่าๆที่นักเขียนเคยตีพิมพ์ในหนังสือ เพื่อมารวมในหนังสือของ "ลุงต่วย" จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชื่ออีกครั้งเป็น "รวมการ์ตูนต่วยและเรื่องสั้นจากชาวกรุง"


อย่างไรก็ตาม มีเสียงท้วงติงมาว่าชื่อหนังสือที่ตั้งไว้นั้น มีความยาวมากเกินไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชื่ออีกครั้งเป็นชื่อที่รู้จักในปัจจุบัน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2514 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ "ต่วย'ตูน"


ทั้งนี้ หนังสือ ต่วย'ตูนนั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบคือ ต่วย'ตูน พอกเก็ตแมกาซีน ซึ่งเป็นหนังสือดั้งเดิมที่รู้จักกันดี โดยจะเน้นเรื่องสั้นและเรื่องเล่าทั่วไปจากผู้เขียน และ ต่วย'ตูน พิเศษ ที่จะเน้นไปในเรื่องสาระความรู้ สารคดี ประวัติศาสตร์


นอกเหนือจากผลงานทั้งสองอย่างแล้ว "ลุงต่วย" ยังมีผลงานอื่นอีกมากมาย แต่ว่า "ลุงต่วย" ใช้นามปากกาหลากหลาย จึงทำให้คนอ่านไม่ทราบ ซึ่งส่วนใหญ่ผลงานจะเป็นในด้านสารคดี โดยจะเป็นสารคดีในรูปแบบต่วยตูน เน้นการใช้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย อ่านสนุก สำหรับเนื้อหาของ ต่วย'ตูนนั้น มีความหลากหลายสูง โดยมีการรวมเรื่องไว้ทุกแนว แต่ว่าทุกเรื่องนั้นต้องมีหลักเกณฑ์ "สาระ+หรรษา" ที่เป็นคำนิยามของต่วย'ตูน เรื่องราวแต่ละเรื่องที่ปรากฏบนหนังสือ จะให้ความรู้สึกเหมือนกับมีเพื่อนมาเล่าเรื่องสู่กันฟัง มีการใช้ภาษาง่ายๆ อีกทั้งยังมีการหยอกล้อกันผ่านทางตัวหนังสือ ระหว่างคนเขียนถึงผู้อ่าน หรือแม้แต่ผู้เขียนถึงบรรณาธิการ


บรรณาธิการผู้ช่วย ต่วย'ตูน กล่าวว่า หนังสือต่วย'ตูนนั้น ทำให้นักเรียนนักศึกษาหันมาสนใจในการอ่านมากขึ้น เพราะว่าหนังสือของ "ลุงต่วย" เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ง่าย อ่านสนุก ทำให้สามารถต่อยอดไปยังเรื่องที่น่าสนใจได้ อีกทั้งการ์ตูนในพอกเก็ตแมกาซีน ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนเพื่อนนักอ่านของผู้สูงวัย ไม่เหมือนกับหนังสือปัจจุบันที่จะมุ่งเน้นไปในเรื่องกลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงานมากกว่า


ในส่วนของเรื่องอนาคตและทิศทางภายหน้าของ ต่วย'ตูน นั้น บรรณาธิการผู้ช่วย ต่วย'ตูน กล่าวว่ายังคงดำเนินต่อไป เพราะลุงต่วยได้วางรากฐานของต่วย'ตูนไว้เป็นอย่างดีแล้ว อีกทั้งยังมีทีมงานที่จะคอยดำเนินการแทน "ลุงต่วย" อยู่ เพราะในช่วงระยะหลัง "ลุงต่วย" ได้ผันตัวจากการเป็นนักเขียน มาเป็นผู้บริหารงานอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรที่จะสืบสาน ต่วย'ตูน ต่อไป


"การปลูกจิตสำนึก ให้คนไทยเกิดการรักการอ่าน"

"อยากให้คนไทยอ่านหนังสือมากๆ"

"อยากให้คนไทยมีความรู้"

"อยากให้หนังสือเป็นเหมือนเพื่อน"

คำพูดเหล่านี้คือสิ่งที่ "ลุงต่วย" มักจะพูดถึงเสมอๆ และเป็นสิ่งที่ "ลุงต่วย" คงอยากจะฝากไว้ถึงคนรุ่นต่อๆไป

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ