สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือ การกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ เช่น ช่องดาวเทียม และ เคเบิ้ลทีวี ต้องเรียงช่องทีวีดิจิทัลไว้ในช่อง 1-36 ของกล่องหรือช่องที่ที่ตัวเองให้บริการให้ตรงกันทั่วประเทศ
หากเป็นไปตามนี้ก็จะมีผลให้การเรียงเลขช่องในทุกแพลตฟอร์มรับชมโทรทัศน์จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ในการประมูลทีวีดิจิตอลตามตารางนี้ ที่จะมีการแบ่งช่องสาธารณะ คือ ช่อง 5 , 11 และ ThaiPBS ไว้ในลำดับต้น จากนั้นก็เป็นประเภทช่องเด็ก ข่าว วาไรตี้ SD และวาไรตี้ HD ความคมชัดสูง ตามลำดับ
ต้องยอมรับว่า สำหรับ กสทช. ไม่มีทางเลือกอื่น เนื่องจากแนวทางนี้ถือเป็นบทบาทสำคัญโดยตรงของกสทช.ในฐานะองค์กรกำกับดูแลที่จะต้องสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากการออกอากาศทีวีในระบบอนาล็อคมาสู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ นอกจากนั้น หากไม่ทำเช่นนี้ ซึ่งก็เป็นทางเลือกที่รู้ดีอยู่แล้วว่าจะต้องมีข้อพิพาทกับผู้ประกอบการเคเบิลและดาวเทียม ก็จะกลายมาเป็นความขัดแย้งที่จะเกิดกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เพราะตลอดกว่า 1 ปีที่ทีวีดิจิทัลเริ่มออกอากาศ บทบาทของกทสช.ในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านให้เป็นไปอย่างราบรื่น ก็ถูกติติงจากฝ่ายของผู้ประกอบทีวีดิจิทัลมาโดยตลอด โดยเฉพาะการสนับสนุนอำนวยความสะดวกให้ผู้ชมเข้าถึงการรับชมทีวีดิจิทัล
นึ่ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่คาดว่า กสทช.จะใช้อธิบายและต่อสู้กับผู้ประกอบการดาวเทียมและเคเบิลทีวีที่ยื่นขอให้ศาลปกครองเพิกถอนประกาศของกสทช. หากดูจากสัญญาณ นายฐากร ตัณฑสิฐ เลขาธิการ กสทช. แถลงด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวในวันนี้ โดยระบุว่า ตราบใดที่ศาลปกครองไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือชี้ขาด จะต้องปฏิบัติตามประกาศ กสทช.สถานเดียว และจะให้เวลาผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนถึง 18.00 น. หากรายใดไม่ปฏิบัติตามจะตักเตือนและลงโทษทางปกครองทั้งการปรับและเพิกถอนใบอนุญาต
จุดยืนที่แตกต่างจากกสทช.และผู้ประกอบทีวีดิจิทัลบางส่วนของผู้ประกอบเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม อาจไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย เพราะชัดเจนว่า ประกาศเช่นนี้ของ กสทช. กระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการกลุ่มนี้โดยตรงและเป็นจุดยืนที่พวกเขาแสดงมาตลอด
ข้อโต้แย้งของผู้ประกอบเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมโดยสรุป ดูเหมือนจะอยู่ที่คำถามว่า ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ผู้ประกอบการลงทุนโครงข่ายและหาลูกค้าหรือผู้ชมด้วยตัวเอง อาจจะไม่ใช้ทรัพยากรของชาติ การบังคับผู้ประกอบการทำตามประกาศกสทช.ที่จะส่งผลให้กระทบต่อฐานผู้ชม ถือว่าผลักภาระการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลของกสทช.มาให้กับพวกเขาหรือไม่
นายมานพ โตการค้า ประธานชมรมผู้ประกอบการโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียม และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไอพีเอ็ม ทีวีจำกัด ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ก่อนการประมูลทีวีดิจิทัล กสทช.ได้อนุญาตให้ ทีวีดาวเทียม และเคเบิ้ล สามารถใช้ช่องหมายเลข 1-10 หารายได้จากผู้เช่าโครงข่ายได้ หากมีการเรียงเลขช่องตามมติล่าสุด จะทำให้ผู้การกอบการสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ รวมถึงจำนวนฐานผู้ชมทีวีดิจิทัลทียังน้อยกว่าดาวเทียมและเคเบิล อาจส่งผลรุนแรงถึงขั้น ที่จะทำให้กิจการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมปิดตัวลง
สำหรับสัดส่วนผู้ชม ประธานชมรมผู้ประกอบการโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียม เปิดเผยว่า ผู้ชมในระบบดาวเทียม และเคเบิล มีถึงร้อยละ 70 ส่วนทีวีดิจิทัล มีฐานคนดูเพียง ร้อยละ 10 เท่านั้น พร้อมส่งสัญญาณไปที่กสทช. ในลักษณะหากทำให้เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมอยู่ไม่ได้ ก็อาจหมายถึงอนาคตของทีวีดิจิทัลที่จะอยู่ไม่ได้ด้วย นับว่าเป็นศึกหนักของกสทช. ที่อีกด้านหนึ่ง ก็มีแรงกดดันจากทางฝากของทีวีดิจิทัล แต่ทั้งหมดนับว่าเป็นสถานการณ์ที่จะวัดความเป็นมืออาชีพของกสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล