​หนังม้วนเดิม ถ้า "สื่อ" – "คนเสพสื่อ" ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม !!!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ถือเป็นอีกหนึ่งครั้งที่สื่อมวลชนไทยโดนกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ การปฏิบัติหน้าที่กรณีนำเสนอข่าวการจากไปของพระเอกหนุ่ม "ปอ – ทฤษฎี สหวงษ์"


ภาพที่ปรากฎในสังคมออนไลน์ชี้ชัดว่า วันนี้วงการสื่อไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนลักษณะการทำงาน โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและเป็นเรื่องส่วนบุคคล ทว่าในทางปฏิบัติให้ประสบผลสำเร็จ ไม่เฉพาะสื่อมวลชนเท่านั้นที่ต้องปรับตัว แต่คนเสพสื่อซึ่งเป็นผู้กำหนดทิศทางการนำเสนอ ก็จำเป็นต้องรู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อด้วยเช่นกัน !



อาจารย์ปรัชญา เปี่ยมการุณ รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) นักวิชาชีพสื่อมวลชนที่ผันตัวสู่การเป็นนักวิชาการ ให้สัมภาษณ์กับทีมนิวมีเดีย PPTV ว่า ส่วนตัวเข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนภาคสนามดี เมื่อถึงเวลาพบเจอแหล่งข่าว ด้วยจิตวิญญาณทุกคนย่อมต้องการได้ข่าวหรือภาพที่ดีที่สุด แต่กรณีการลำเลียงร่างของพระเอกหนุ่มกลับบ้านเกิด ชัดเจนว่าเมื่อมีช่างภาพคนแรกที่ทลายรั้วเหล็กเข้ามา ช่างภาพคนอื่นๆ ก็ย่อมต้องกรูเข้าไปด้วยเช่นกัน โดยหลงลืมกรอบจริยธรรมและมารยาททางสังคม หรือแม้กระทั่งจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน





"ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ปอ ทฤษฎี จากการทำข่าวของสื่อมวลชนและช่างภาพ ไม่เพียงสร้างความลำบากใจให้กับตัวภรรยาเท่านั้น แต่สำหรับน้องมะลิซึ่งขณะนี้ยังเล็กเกินกว่าจะเข้าเรื่องราวทั้งหมด ในระยะยาวเมื่อโตขึ้นตัวน้องเองจะรู้สึกอย่างไร ประเด็นนี้ไม่มีใครคำนึงถึง"



แน่นอนว่าการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นต้องนำเสนอข่าวสารด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้เท่าทันกับเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้เสพสื่อ ไม่อาจปฏิเสธว่าผลงานที่ถูกนำเสนอสู่สายตาประชาชนนั้น ส่วนหนึ่งถูกกำหนดด้วยดีมานด์และความต้องการของคนเสพสื่อด้วย



รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว. ชี้ว่า หากจะปฏิรูปวงการสื่อมวลชนให้ประสบผลสำเร็จ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ไม่เฉพาะสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม แต่รวมถึงหัวหน้าข่าว บรรณาธิการ หรือแม้กระทั่งผู้บริหารระดับสูงในองค์กรสื่อด้วย ที่ต้องลงมาสั่งการและวางมาตรการควบคุม โดยกำหนดบทลงโทษผู้ผ่าผืนกฎเกณฑ์ให้ชัดเจน เพื่อเป็นบรรทัดฐานสำหรับการผลิตงานที่มีคุณภาพ ให้ตรงตามกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพและจริยธรรมทางสังคม



"ปัจจุบันเราจะเห็นว่าในหลายๆ สำนักข่าวที่มียอดอ่าน ยอดไลค์ และยอดแชร์สูงๆ หลายครั้งมักจะมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่ละเมิดเกินขอบเขตจรรยาบรรณวิชาชีพ มาตรวัดที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนคือพฤติกรรมของคนเสพสื่อ ทุกวันนี้คนให้ความสนใจกับเรื่องส่วนบุคคลและเรื่องดราม่ามากขึ้น ทำให้นักข่าวจึงต้องเน้นผลิตเนื้อหาในลักษณะนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด จนกลายเป็นว่าทุกวันนี้สังคมไทย มีแต่ข่าวที่คนอยากรู้ มากกว่าข่าวที่ควรจะรู้"



สุดท้าย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร ย้ำว่า นอกเหนือจากการกำหนดกรอบปฏิบัติและบทลงโทษที่ชัดเจน รวมไปถึงการปรับเปลี่ยพฤติกรรมการเสพสื่อของประชาชนแล้ว สิ่งสำคัญคือการปลูกฝังจิตสำนึกแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกคน ให้คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมมากกว่าเรทติ้ง แต่การจะทำได้สำเร็จนั้นค่อนข้างยาก เพราะตรงนี้ถือเป็นความตระหนักรู้ส่วนบุคคล..


Content : สุริยัน ปัญญาไว

Producer/Editing: บุญญานันท์ คำโพธิ์ทอง

PPTV Photo : ทวีชัย จันทะวงค์



TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

ขณะนี้ มีรายการกำลังถ่ายทอดสด คุณสนใจหรือไม่?

POP NEWS

POP NEWS

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ