​สพฉ. เตือนดื่มเหล้าแก้หนาว อันตรายถึงชีวิต !!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เตือนประชาชนที่จะดื่มเหล้าแก้หนาวในช่วงอากาศแปรปรวน จะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อน เพราะเส้นเลือดฝอยขยายตัว จนส่งผลให้เสียชีวิตได้


หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนเตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนของประเทศไทยในในช่วงนี้ว่าจะมีทั้งฝนฟ้าคะนองและอากาศหนาวเย็นลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่วันที่ 23 -26 ม.ค. 59 นี้



นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ให้คำแนะนำถึง การดูแลตนเองของประชาชนในช่วงที่สภาวะอากาศจะแปรปรวนนี้ว่า เรื่องแรกที่ต้องเตือนประชาชนที่ต้องรับมือกับอากาศหนาวเย็นอย่างฉับพลันในหลากหลายพื้นที่ คือ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อแก้ความหนาวเย็นเด็ดขาด เพราะมีประชาชนจำนวนมากที่ยังมีความเชื่อว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นจะทำให้ร่างกายอบอุ่นและแก้อากาศหนาวเย็นได้ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดอย่างมาก


"ในความเป็นจริงแล้วการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นจะเป็นตัวเร่งให้ร่างกายสูญเสียความร้อน ที่สำคัญแอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดฝอยที่อยู่ใต้ผิวหนังเกิดการขยายตัว ผู้ดื่มจะรู้สึกว่าตัวร้อนขึ้นทำให้เข้าใจผิดว่าร่างกายของตัวเองอบอุ่นแต่ในความเป็นจริงคือ เส้นเลือดฝอยกำลังขยายตัวอย่างหนักนั่นเองและจะเป็นช่องทางให้ความร้อนในร่างกายถูกระบายออกได้ง่ายขึ้น เมื่อเราดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นเท่าไหร่ความร้อนก็จะถูกระบายออกจากร่างกายมากขึ้นไปด้วย และจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลงกว่าปกติ เมื่อเราหลับและร่างกายสัมผัสอากาศเย็นเป็นเวลานานจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้"




เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวเพิ่มว่า อากาศที่หนาวเย็นลงอย่างฉับพลันนั้นจะทำให้ผู้ป่วย โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง และโรมอัมพฤกษ์อัมพาตได้รับผลกระทบ เพราะความหนาวเย็นจะส่งผลให้ประสาทส่วนกลางทำงานผิดปรกติ และทำให้อัตราการเต้นของหัวใจผิดปรกติด้วย


นอกจากนี้แล้วเมื่ออากาศหนาวเย็นมากๆ ร่างกายจะต้องการออกซิเจนมากขึ้นและจะส่งผลต่อความดันโลหิตของผู้ป่วยในกลุ่มโรคอาการดังกล่าวด้วย ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องเตรียมยาประจำตัวให้พร้อม และดูแลสุขภาพตนเอง รักษาร่างกายให้อบอุ่น ทั้งนี้หากเป็นหวัด ถ้าจะออกนอกบ้านให้สวมผ้าปิดปากป้องกันการติดเชื้อสู่คนรอบข้าง และหากร่างกายเปียกน้ำให้รีบเช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อป้องกันภาวะปอดบวมด้วย



TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ