เลิกหนาว! นักอุตุฯยันอากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้วไม่มีอีกแล้วปีนี้ จับตาภัยแล้งรุนแรง?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ดร.สมิทธ ชี้อากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้วไม่มีแล้วในปีนี้ แต่ต้องเตรียมรับมือ หลังจากหนาวครั้งนี้อาจเกิดวิกฤตแล้งรุนแรง ขณะที่นักอุตุฯเชื่อว่า แล้งจริงแต่ยังมีฝนช่วย ไม่มากนัก ต้องช่วยกันประหยัดน้ำทุกรูปแบบ เชื่อปีหน้าปริมาณฝนกลับมามีมากเหมือนเดิม

หลังจากสร้างความประหลาดใจครั้งยิ่งใหญ่ให้กับชาวไทยทั้งประเทศ จากการที่อยู่ดีดีประเทศไทยอุณหภูมิลดต่ำลงอย่างฉับพลันทั่วทุกภาคในเวลา 3 วัน คือตั้งแต่วันที่ 25-27 ม.ค. 59 โดยบางพื้นที่ลดต่ำสุดถึง 6-10 องศาเซลเซียส และทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา และกระทรวงวิทยาศาสตร์ก็ออกมาระบุล่าสุดว่า วันที่ 1-3 ก.พ.นี้ มีโอกาสที่จะมีอากาศหนาวอีกครั้ง ทำให้เกิดคำถามที่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย? หรือเพราะอากาศโลกแปรปรวน? แล้วหลังจากนี้อะไรจะเกิดขึ้นตามมา?

ทีมข่าว News Media PPTV พร้อมจะมาไขข้อข้องใจให้แฟนๆ PPTV HD ได้รับทราบไปพร้อมๆ กัน ว่าเราควรเตรียมการรับมืออย่างไรต่อไป... โดยได้สอบถามไปยัง ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

ขอบคุณภาพ news.truelife.com

ไขข้อข้องใจ ทำไมอากาศถึงหนาวเฉียบพลัน?

ดร.สมิทธ ให้ข้อมูลว่าสาเหตุที่เกิดอากาศหนาวเฉียบพลัน เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์เอลนินโญ่ และลานินญา ทำให้ความกดอากาศแผ่ลงมาขั้วโลกเหนือ และบริเวณเส้นศูนย์สูตรอย่างฉับพลัน พัดเอาความหนาวมาด้วย ทำให้ปี 2559 นี้ความเย็นที่เข้ามาสู่ประเทศไทยตอนบนและภาคตะวันออกของประเทศไทยมีความรุนแรงมาก รวมทั้งมีลมมรสุมจากตะวันตกและตะวันออกเฉียงเหนือ พัดเอาอากาศเย็นจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีเข้ามาด้วย ทำให้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากอากาศเย็นอย่างฉับพลันและรุนแรง อุณหภูมิลดลงฮวบ ตั้งแต่วันที่ 25-27 ม.ค. 59 แต่หลังจากวันที่ 27 ม.ค. 59 อากาศจะเริ่มอุ่นขึ้น และพอถึงเดือน ก.พ. 59 ก็จะเริ่มร้อนและจะแห้งแล้งไปจนถึงเดือน พ.ค. 59 ทั้งนี้ต้องระวังมาก เพราะประเทศไทยอาจจะขาดฝนตั้งแต่เดือน ก.พ.-เม.ย. 59

ในปีนี้จะเกิดอากาศแปรปรวนขึ้นอีกหรือไม่ ?

ดร.สมิทธ กล่าวว่า จะไม่มีการเกิดอากาศแปรปรวนในลักษณะนี้ขึ้นอีกในปีนี้ หลังจากนี้อากาศจะเริ่มร้อนขึ้น ตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. 59 จะเริ่มไม่มีฝน และจะเริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือถ้าไม่มีพายุจรเข้ามาเลยจะทำให้น้ำแล้งและไม่มีน้ำบริโภค เพราะทุกๆ ปีจะเข้ามาปีละประมานสิบลูก แต่ปี 58 เข้ามาแค่ลูกเดียว ที่มีลูกเดียวเพราะพอพัดมาถึงประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม ก็ขึ้นเหนือไปที่จีนเลย ไม่พัดเข้าไทย

"อาจมีฝนบ้าง แต่น้อย หรืออาจจะไม่มีเลย เพราะว่าฝนโดยธรรมชาติไม่มี นอกจากจะมีพายุจรโคจรผ่านประเทศไทย เราถึงจะได้รับอิทธิพลจากฝน แต่ถ้าไม่มีพายุจรพัดเข้ามาในประเทศไทย เราจะขาดน้ำอย่างรุนแรงเลยในปี 2560 และตอนนี้เราก็ขาดน้ำอยู่แล้ว น้ำในเขี่อนต่างๆ ก็แห้งหมดแล้ว ถ้าเราไม่มีน้ำตั้งแต่ ก.พ.-เม.ย. 59 ซึ่งเป็นหน้าร้อนใหญ่ที่สุด จะยิ่งร้อนใหญ่และเกิดแล้งอย่างรุนแรง" ดร.สมิทธ กล่าวอย่างจริงจัง

ดร.สมิทธ กล่าวต่อว่า หากพายุจรนี้ถ้าจะมาตามธรรมชาติก็ต้องเลยเดือน พ.ค. 59 ไปก่อน แต่ถ้าเลยเดือน พ.ค. ไปแล้วยังไม่มีพายุจร แม่น้ำใหญ่ๆ อย่างเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง ก็จะแห้งขอด ประชาชนก็จะไม่มีน้ำใช้ ถ้าไม่มีฝนตกเลยก็จะทำให้เกิดวิกฤต ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่จะเป็นประเทศอื่นด้วย แต่ประเทศไทยจะหนักเพราะไม่มีแม่น้ำใหญ่จากต่างประเทศไหลผ่าน เมีแต่เขื่อนใหญ่ เช่น เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล และน้ำในเขื่อนอาจแห้งกว่านี้ในเดือน ก.พ. และ มี.ค. เพราะไม่มีน้ำไหลลงเขื่อนเลย ประกอบกับการระเหยของน้ำ เพราะน้ำอยู่กลางแจ้งตลอดเวลา ทำให้อัตราการระเหยของน้ำมีมาก

หลัง เม.ย. 59 ไปแล้ว ภัยแล้งจะดีขึ้นหรือยังวิกฤต?

ดร.สมิทธ กล่าวว่า ต้องรอดูถ้าเกิด เม.ย. 59 ยังแห้งแล้งอยู่ และเดือน พ.ค. 59 ซึ่งฝนจะต้องเริ่มตกตามฤดูฝน ถ้ายังไม่ตกก็อาจเจอกับปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือน พ.ค. กับ มิ.ย. ประมาณครึ่งเดือน เพราะฉะนั้นถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ ปลายเดือน มิ.ย. 59 จะแห้งแล้งนานมาก เพราะน้ำในเขื่อนใหญ่ๆ ตอนนี้ก็แห้งลงตลอดเวลา น้ำที่นักวิชาการและเจ้าหน้าที่เขื่อนเห็น ที่จริงแล้วไม่ใช่น้ำทั้งหมด เพราะลึกลงไปอีกไม่กี่เมตรเป็นตะกอน เพราะแต่ละเขื่อนสร้างไว้นานแล้ว พวกกรวดทรายที่อยู่ริมตลิ่งตามเขื่อนจะไหลลงไปรวมอยู่ใต้ก้นเขื่อน จริงๆ แล้วที่เห็นน้ำปกคลุมที่มีปริมาตรเป็นล้านๆลูกบาศก์เมตร ความจริงไม่ใช่ เป็นตะกอนทั้งสิ้น ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะประเทศไทยไม่มีการตักตะกอนทิ้งเหมือนในต่างประเทศเพื่อให้บริเวณเขื่อนมีพื้นที่เก็บน้ำมากขึ้น แต่ประเทศไทยยังไม่มีวิธีการทำแบบนั้น

มาตรการรับมือ? ประชาชนต้องเตรียมตัวอย่างไร

ดร.สมิทธ กล่าวว่า ต้องใช้น้ำให้น้อยลง ต้องขุดบ่อขุดสระเตรียมไว้ตั้งแต่ต้นก่อนจะถึงฤดูแล้ง ขุดไว้ตามหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ อย่าคิดว่าน้ำที่เอามาใช้ในฤดูแล้งถ้าฝนไม่ตกจะเป็นน้ำบริโภคอย่างเดียว ปัญหาที่เกษตรกรควรตระหนักถึงแต่กลับมองข้ามไปคือน้ำที่จะนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ อย่าคิดแต่จะใช้น้ำปลูกข้าวปลูกพืชเพียงอย่างเดียว เพราะสัตว์ก็เป็นอาชีพหลักของเกษตรกรเช่นกัน ทั้งนี้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาช่วยดูแลในการขุดบ่อขุดสระตื้นๆ ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะชาวบ้านมักขุดบ่อบาดาล ซึ่งบ่อบาดาลไม่สามารถขุดได้ทุกที่ โดยเฉพาะภาคอีสานเพราะจะเจอบ่อน้ำเกลือ ถ้าจะขุดต้องขุดลึกลงไป จะต้องใช้งบประมาณเยอะตามไปด้วย

อุตุฯยันอากาศแปรปรวนสุดขั้วไม่เกิดอีก แต่เชื่อมีฝนช่วยแล้งได้บ้าง

วิกฤตภัยแล้งรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ส่งผลให้หลายคนรู้สึกตกใจและวิตกกังวลกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องประกอบอาชีพทำไร่ทำนา เลี้ยงสัตว์ ซึ่งต้องใช้น้ำเป็นหลัก

นายบุญธรรม ตั้งล้ำเลิศ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ ตำแหน่งหัวหน้าเวรพยากรณ์อากาศ ให้สัมภาษณ์กับ "ทีมข่าว New Media PPTV" ว่า ฤดูฝนจะมีฝน 2 ชนิด คือ ฝนตามฤดูและฝนนอกฤดู จะเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.-ต.ค. 59 ส่วนฤดูหนาวและฤดูร้อนก็จะมีฝนจรเข้ามา ไม่จำเป็นต้องเป็นพายุที่จะพาฝนเข้ามา ปกติจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำแนวปะทะอากาศหรือความเคลื่อนตัวของความกดอากาศ ซึ่งฝนจรจากกลุ่มเมฆก็จะทำให้เกิดฝนจรได้เป็นระยะ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสามารถทำให้ฝนตกได้ด้วย มีลักษณะแบบนี้เข้ามาเดือนละ 2 ครั้ง ก็จะช่วยบรรเทาภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ ถึงจะไม่สามารถเก็บน้ำไว้ในเขื่อนได้ แต่เกษตรกรกับประชาชนก็สามารถเอาน้ำในจุดนี้มาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้

"ปกติฝนจะตกในช่วงฤดูฝน แต่ถ้าตกในฤดูอื่นก็จะถือเป็นฝนนอกฤดู ซึ่งจะมีโอกาสตกได้ทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว สำหรับฝนในช่วงต่อจากนี้ไปคือฝนฤดูร้อน เราก็คิดว่าช่วงที่ผ่านมาไม่น่าจะมีฝนแต่ปรากฎว่าฝนที่เข้ามาก็ไม่น้อยทำให้ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำให้กับเกษตรกรได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้มากขนาดที่ทำให้การจัดการน้ำดีขึ้น" นายบุญธรรม กล่าว

นายบุญธรรม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าลักษณะของฝนไม่จำเป็นต้องเป็นพายุจร แต่เป็นแค่ลมทะเลพัดมานำความชื้นเข้ามาก็ทำให้เกิดฝนได้เช่นกัน เช่น ภาคใต้และภาคตะวันออก ส่วนทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีลมตะวันตกพัดเข้ามาทำให้เกิดฝนได้ แต่ก็ไม่มาก

ทั้งนี้นายบุญธรรม กล่าวต่อว่า สำหรับอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือ Extreme Event เปลี่ยนแปลงสุดขั้ว ไม่ได้เกิดบ่อย ซึ่ง 4-5 ปีเกิดซักครั้ง หรือ 1 ปี เกิด 1 ครั้งก็มากที่สุดแล้วไม่มากไปกว่านี้ อาจเกี่ยวข้องกับการที่โลกร้อนขึ้น ทำให้อากาศแปรปรวน แทนที่ลมจะพัดลงมาก็ทำให้ลมพัดไปทางอื่น มีความสัมพันธ์กันบ้างแต่ไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับที่ดร.สมิทธิ ให้ข้อมูลว่าในปีนี้จะไม่เกิดอากาศแปรปรวนขึ้นอีกแล้ว

นายบุญธรรม กล่าวอีกว่า ก.พ.-เม.ย. 59 ใน 3 เดือนนี้จะเป็นหน้าแล้ง ฝนจะตกลงมาไม่มาก อาจช่วยได้แค่พืชผักสวนครัว พืชน้ำน้อย แต่หากจะทำไร่ทำนาฝนคงจะไม่มาก อาจทำได้บ้างแต่ไม่มากขนาดนั้น แต่ถ้าในฤดูฝน ฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาลอย่างแน่นอน โดยถ้าฝนตกเหนือเขื่อน ก็จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนได้ แต่ถ้าตกใต้เขื่อน ถึงตกมากก็จริง แต่ก็ไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนได้

ส่วนปีที่แล้วที่ปริมาณฝนน้อยลง 10-20 เปอร์เซ็นต์ เหตุการณ์แบบนั้นก็ไม่ได้เกิดบ่อย 3-5 ปี เกิดซักครั้งหนึ่ง ทั้งนี้พอน้ำน้อยที่สุดแล้ว ปีถัดไปปริมาณฝนก็จะเพิ่มกลับมาเท่าเดิม ถ้าน้อยแล้วจะไม่มีน้อยกว่านั้นอีก ในปีที่ผ่านมาถือว่าน่าจะที่สุดแล้ว

ที่มา : http://www.tmd.go.th/programs/uploads/forecast/201...

ทั้งนี้จากภาพ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ทำการคาดปริมาณฝนตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค. 59 เปรียบเทียบกับค่าปกติ 30 ปีย้อนหลัง ซึ่งพบว่า ในเดือน ม.ค. 59 นี้ ภาคเหนือมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนภาคอื่นๆ มีฝนใกล้เคียงกับค่าปกติ ซึ่งจะมีแค่ภาคใต้ที่ปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติเล็กน้อยเท่านั้น

นายบุญธรรม แนะนำว่า ประชาชนควรจะเรียนรู้การสืบหาข่าวที่เป็นความจริงมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นชาวสวน ชาวไร่ หากอยู่ในช่วงน้ำน้อยควรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและต้องปรับตัว ส่วนประชาชนทั่วไปก็ต้องช่วยกันประหยัดน้ำ

 

Content : ภาสินี พลับบุรี

Producer/Editing: บุญญานันท์ คำโพธิ์ทอง

PPTV Photo : สมศักดิ์ เนตรทอง

                                                            

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ