สธ. ออกประกาศ “โรคซิกา” เป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมการแพทย์ทหารอากาศ ยืนยันไม่ได้ปิดบังการพบผู้ป่วย "โรคไข้ซิกา"

 

ภายหลังมีการยืนยันว่ามีผู้ป่วย “โรคไข้ซิกา” เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ ซึ่งแม้ พล.อ.ต.สันติ ศรีเสริมโภค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ จะออกมายืนยันว่าคณะแพทย์ ได้ทำการรักษาผู้ป่วยจนหายดีและให้กลับบ้านไปแล้วนั้น แต่เพื่อยกระดับป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศไทย วันนี้ (2 ก.พ. 2559) กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศให้ “โรคซิกา” เป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างเต็มที่ พร้อมยกระดับการเฝ้าระวัง “ทางระบาดวิทยา” และ “ทางกีฏวิทยา” ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ออกผื่น ทารกที่มีความผิดปกติศีรษะเล็ก และผู้ที่มีอาการปลายประสาทอักเสบ

เมื่อเวลา 14.00 น. นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา พลอากาศตรีสันติ ศรีเสริมโภค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชฯ และคณะ ร่วมกันแถลงมาตรการควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus disease) ของประเทศไทย

นพ.อำนวย เปิดเผยว่า ภายหลังองค์การอนามัยโลก ประกาศเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้ทุกภาคส่วน เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นเฝ้าระวัง 4 เรื่อง คือ 1.  เฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 2.เฝ้าระวังทางกีฏวิทยา 3.เฝ้าระวังในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ออกผื่น ทารกที่มีความผิดปกติศีรษะเล็ก โดยได้ประสานกับสมาคมสูตินรีแพทย์แห่งประเทศในการเฝ้าระวังอีกด้วย และ 4.เฝ้าระวังในผู้ที่มีอาการปลายประสาทอักเสบ ซึ่งขณะนี้ห้องปฎิบัติการ (Lab) ของประเทศไทยสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสซิกาได้หลายแห่ง ซึ่งวันนี้ได้ลงนามในประกาศ 2 ฉบับตามที่กรมควบคุมโรคเสนอ ได้แก่ ชื่อและอาการสำคัญผู้ป่วย และประกาศให้โรคซิกาเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2523  หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทันที

อย่างไรก็ตาม ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ประเทศไทยไม่ใช่พื้นที่ระบาดของโรค แต่ละปีมีผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 5 คน โรคนี้ส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการโรคไม่รุนแรง ไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต มีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาการเหล่านี้ทุเลาลงได้เองภายในเวลา 2-7 วัน แต่ต้องขอความร่วมมือประชาชน ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งในบ้าน รอบๆ บ้านและในชุมชน โดยไม่จำเป็นต้องรอเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการให้ ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันในเรื่องนี้  

ส่วนผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดในแถบประเทศลาตินอเมริกา และแคริเบียน หากมีอาการข้างต้นสามารถเข้ารับการตรวจรักษาได้ที่สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ขอให้เชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย และโปรดติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข  หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับกรณีที่มีข่าวพบผู้ป่วยที่โรงพยาบาลภูมิพล กรมแพทย์ทหารอากาศ นั้น พล.อ.ต.สันติ ศรีเสริมโภค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ ระบุว่า ทางโรงพยาบาลได้พบผู้ป่วยชายมีอาการไข้ออกผื่นเข้ารักษา โดยคณะแพทย์ได้รักษาตามอาการ และเจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ จนพบผลยืนยันว่าเป็นโรคซิกา จึงได้ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งการทำลายยุงที่เป็นพาหะนำโรค ให้ความรู้ประชาชน และประสานงานกันใกล้ชิดกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้ปิดบังการพบผู้ป่วยแต่อย่างใด

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเช้า เวลา 10.00 น. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวในการประชุมชี้แจงแนวทางการวินิจฉัย การเฝ้าระวัง และการส่งต่อผู้ป่วย “โรคเมอร์ส” และ “โรคไข้ซิกา” ว่า การให้บริการทางการแพทย์ถือเป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมหลักสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ในทางปฏิบัติหากภาคเอกชนช่วยกันเฝ้าระวัง คัดกรอง และประสานส่งต่อผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ ประเทศไทยก็จะยังคงมาตรฐานการควบคุมโรคได้เช่นนี้ต่อไป ซึ่งในภาพรวมจะก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ชาวต่างชาติจะไว้ใจมาใช้บริการทางการแพทย์ของไทยมากขึ้น ดังนั้นภาครัฐและเอกชนต้องช่วยกันควบคุมป้องกัน เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเกิดเหตุซ้ำรอยประเทศเกาหลี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการยกเลิกแผนการท่องเที่ยว มูลค่าสูงกว่า 2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ สำหรับมาตรการของประเทศไทย ได้กำชับให้ผู้ประกอบการสถานพยาบาลภาคเอกชน เข้มงวดในการปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 และ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ด้วยการควบคุมการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมจัดจุดตรวจคัดกรองแยกกับผู้สัมผัสเชื้อออกจากผู้อื่น และจัดจุดกับการควบคุมผู้สัมผัสเชื้อจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค ซึ่งหากสถานพยาบาลไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดตามกฎหมายทั้งสองฉบับ โทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ