คนดีที่แปลก ยินดีเป็น “นายกฯคนนอก” แต่ไม่ยินยอมเข้าระบบพรรค


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิชาการ มองเลือกตั้งประชาชนจะเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล ตามความอยากได้นายกฯคนใด พร้อมประสานเสียงไม่เห็นด้วย “นายกฯคนนอก” จี้ใช้ระบบปาร์ตี้ลิสต์เหมือนเดิมดีกว่า ตั้งคำถามนายกฯคนนอกเป็นคนดีที่แปลก ทำไมยินดีให้เสนอเป็นนายกฯ แต่ไม่ยินยอมเข้าระบบพรรค

 

ช่วงนี้เป็นช่วงของการประชุมเสนอความเห็น ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งจะมีการส่งกลับความคิดเห็นไปให้ กรธ.วันจันทร์ที่ 15 ก.พ.59นี้ แล้ว

แต่ประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงหลายประเด็น โดยเฉพาะ “นายกคนนอก” ที่ยังเป็นเรื่องร้อนฉ่า

ก่อนจะไปถึงเรื่องนายกฯคนนอก ประเด็นต่อเนื่องสำคัญคือเรื่องของระบบจัดสรรปันส่วนผสม และการเลือกตั้งโดยใช้บัตรใบเดียว

ผศ.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนาย สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์กับรายการ “เป็นเรื่อง เป็นข่าว” เจาะลึกทุกประเด็น

 

ระบบจัดสรรปันส่วนผสม

ผศ.อรรถสิทธิ์ มองว่าเป็นระบบที่จะสร้างความเป็นธรรมเพราะคะแนนเสียงจะทำให้ได้ที่นั่งในสภาได้สัดส่วนที่เหมาะสม เพราะจะมีการเอาคะแนนทั้งหมดที่ได้ทุกพรรคมารวมกันแล้วหารด้วย 500 เป็นคะแนนต่อ 1 ที่นั่ง จากนั้นมาดูว่าพรรคควรได้กี่ที่นั่ง เพื่อที่จะเอาไปหักคะแนนเขตกับแบบปาร์ตี้ลิสต์ เป็นระบบที่จะบอกว่า “คุณได้คะแนนเสียงมากเท่าไร จะได้ที่นั่งในสภาได้เท่านั้น” เป็นระบบสัดส่วนที่ทำให้พรรคเล็กได้ที่นั่งในสัดส่วนเดียวกับพรรคที่ได้คะแนนเสียงสูง

“มันไม่ได้เสียเปรียบแบบนั้นในอดีตที่ผ่านมาที่พรรคใหญ่มีคะแนนเสียงมันไม่ได้สัดส่วนกับที่นั่งคือเขาได้ โอเวอร์ไปถึงได้ที่นั่งขนาดนั้นแต่คราวนี้เราพยายามทำให้ที่นั่งได้สัดส่วนคะแนนเสียงมากขึ้น เขาไม่ได้เสียเปรียบแต่เพราะก่อนหน้านั้นเขาได้เปรียบ ยิ่งรัฐธรรนูญฯ ปี 2540 ที่เป็นระบบเลือกตั้งผสมครั้งแรกที่เราใช้เป็นกระบวนการที่เราอยากได้พรรคใหญ่ เพราะพรรคใหญ่ได้คะแนนสูง เพราะฉะนั้นพรรคใหญ่จึงได้เปรียบ แต่ตอนนี้เราอยากให้พรรคเล็กไม่เสียบเปรียบ” ผศ.อรรถสิทธิ์ กล่าว

 

เลือกตั้งทุกระบบบัตรเดียว

นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า บัตรเดียว คือใครชนะเขตไหนก็ชนะไป ส่วนคนที่แพ้ และผู้ชนะร่วม เอาคะแนนไปรวมกันอีกในส่วนของบัญชีรายชื่อ เพื่อไปนับรวมว่าได้เท่าไร แล้วค่อยมาหักเขตออกทีหลัง แปลว่าทุกคะแนนจะถูกคิด 2 ครั้ง ครั้งแรกเพื่อหาจำนวนที่นั่งที่ควรจะได้จาก 500 ตามโมเดลของ กรธ ครั้งที่2 ดูว่าที่ชนะในเขตชนะเท่าไหร่ก็ได้ไปแล้วและที่เหลือก็มาดูอีกทีว่าจะได้ปาร์ตี้ลิสต์เติมเข้าไปอีกเท่าไหร่ แปลว่าคะแนนทุกคะแนนถูกคิดหมด

 

พรรคใดได้เปรียบ?

นายสติธร วิเคราะห์ว่า พรรคเล็กจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เหตุเพราะไม่มีศักยภาพในการส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงทุกเขต และศักยภาพหาเสียงอาจมีน้อยกว่าพรรคใหญ่ เช่น พรรครักประเทศไทย ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ที่แต่เดิมส่งผู้สมัครแค่ 5 คน ลงระบบปาร์ตี้ลิสต์ เมื่อพรรคได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์มากก็มีโอกาสที่จะได้ส.ส.ในส่วนนี้มาถึง 4 ที่นั่ง แต่หากครั้งนี้อยากได้คะแนนบัญชีรายชื่อ ก็ต้องส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงทุกเขต เพื่อให้ได้คะแนนสะสม

 

ขณะที่ ผศ. อรรถสิทธิ์ มองว่า พรรคเล็กมีโอกาสมากขึ้น พรรคใหญ่ก็มีโอกาสเหมือนเดิม ถ้าเขตการเลือกตั้ง 350 คนก็ต้องได้ 35% ถึงจะชนะแต่ระบบนี้ไม่ว่าจะได้กี่เปอร์เซนต์ก็อาจจะมีสิทธิได้ 1 ที่นั่ง เฉลี่ยแล้ว 150,000 ที่นั่งคือ 1 คะแนน ฉะนั้นถ้าเก็บคะแนนเสียงแล้วส่งไป 150,000 มันก็อาจจะได้ 1 ที่นั่งแต่ถ้ารวมคะแนนเขตอย่างเดียว  ไม่มีโอกาส แต่ปัญหาของพรรคใหญ่จะเป็นเรื่องของ มุ้ง หรือกลุ่มก๊วนภายในพรรคมากกว่าที่จะทำให้การจัดการการลงสมัครเลือกตั้งส.ส.มีปัญหา

 

 

เลือกที่ตัวบุคคล หรือ เลือกพรรคการเมือง?

นายสติธร มองว่า ถ้า กรธ.ทำความเข้าใจในการเลือกตั้งบัตรใบเดียวเพียงพอ ประชาชนจะไม่สับสน แต่มองว่าการกาบัตรเดียวจะทำให้คนไปเลือกตัวบุคคล ทำให้เขตมีอำนาจไปต่อรองกับพรรคการเมืองมากขึ้นก็ได้ แต่จากสถิติที่ผ่านมาจะแสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมการเลือกตั้ง 10 กว่าปีที่ผ่านมา พรรคจะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด

ประเด็นนี้ ผศ.อรรถสิทธิ์ คิดว่าคนจะเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล และพรรคใหญ่จะได้เปรียบ เพราะประชาชนจะคิดถึงพรรค คิดถึงนายกฯที่เขาอยากให้เป็นจากคนที่พรรคเสนอ จึงมองว่าพรรคจะเป็นตัวหลักขณะที่คนเป็นแค่ตัวแถม

 

นายกฯคนนอก-เมื่อการเมืองถึงทางตัน

นายสติธรมองว่า นายกฯคนนอกจะเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความอึดอัดอย่างมาก เพราะพรรคเสนอบัญชี 3 คน แล้วพรรคที่จะถูกเลือกต้องมี ส.ส. 5 %  คือพรรคที่มีสิทธิที่ที่จะถูกเลือกต้อง 25 คนขึ้นไป สมมุติว่ามี 4 พรรค 3 รายชื่อมี 12 คนเท่านั้นเอง ถึงเวลาเกิดวิกฤติเหลือ 11 คน ถ้าพรรคไหนทำให้เกิดวิกฤตก็ตัดไปเหลือ 9 คน ยิ่งน้อยกว่าเดิมจากที่เดิมเลือกได้500 คน ส่วนที่มองว่าคนหมดศรัทธากับระบบการเมือง อยากให้คนนอกมาเป็นนายกฯ เพราะมองว่าเป็นคนดี

“คนดีซึ่งเป็นคนดีที่แปลกนะฮะ ยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อตัวเองไปเป็นนายกได้แต่ไม่ยินยอมมาอยู่ในระบบของพรรคก็เป็นการเปิดเฉพาะช่วงที่มีการสมัครเท่านั้น ถ้ามองว่าเป็นการแก้วิกฤติมันไม่ใช่” นายสติธร กล่าว

เช่นเดียวกับ ผศ.อรรถสิทธิ์ ที่มองว่า แปลก ที่มีนายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะหากคนที่ได้เป็นนายกฯ จะรู้ได้อย่างไรว่า ส.ส.ในพรรคจะเชื่อฟัง ฝ่ายบริหารจะสั่งฝ่ายนิติบัญญัติได้หรือไม่ ซึ่งมองว่าหากคนหมดศรัทธากับสภาผู้แทนราษฎร์ให้มีการเลือกตั้งใหม่ยังจะดีกว่า

 

นายกฯคนนอก จำเป็น?

ผส.อรรถสิทธิ์ มองว่า เป็นเรื่องไม่จำเป็น ควรออกแบบระบบปาร์ตี้ลิสต์เป็นนายกฯแทน การเพิ่มชื่อนายกฯเป็น 3 คนจากเดิมที่เป็นเบอร์ 1 ปาร์ตี้ลิสต์ จะเป็นการเปิดช่องให้คนมีอำนาจนอกเหนือจากระบบ เข้ามามีอำนาจ

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ