กยศ. แจงไม่รู้ตำแหน่งข้าราชการ ค้างหนี้ 6.6 หมื่นคน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กยศ. เร่งทำ MOU กระตุ้นลูกหนี้ชำระเงินคืน ระบุทั่วประเทศมีข้าราชการเป็นลูกหนี้ 1.73 แสนราย ค้างชำระ 6.6 หมื่นราย

จากกรณี นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่าสาเหตุที่ข้าราชการกว่า 60,000 คน ไม่ชำระเงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นเงินให้เปล่า ซึ่งในส่วนของกระทรวงคลังมีข้าราชการที่ค้างชำระเงินกว่า 1,000 คน โดยมีตำแหน่งข้าราชการระดับสูงสุดถึง ซี8 และ ซี9 อยู่ในนี้ด้วยนั้น

 

เพื่อแก้ปัญหา นายสมชัย บอกว่า กระทรวงการคลังจะเปิดให้ข้าราชการ ที่ผิดชำระหนี้ กยศ. เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้โดยการหักเงินเดือน ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2559 ขณะเดียวกันจะร่วมกับกระทรวงต่างๆ ลงนาม MOU เรื่องดังกล่าวในวันที่ 15 ก.พ. ที่จะถึงนี้

 

ด้าน ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กยศ. มีข้อมูลจำนวนข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ ทั้ง กยศ. และ กรอ. ณ สิ้นธันวาคม 2558 รวมทั้งสิ้นประมาณ 173,000 ราย ในจำนวนนี้ปิดบัญชีแล้วประมาณ 36,000 ราย ไม่ค้างชำระหนี้ประมาณ 71,000 ราย และค้างชำระประมาณ 66,000 ราย ซึ่งคิดเป็น 38% แต่กองทุนฯ ไม่ทราบว่าผู้กู้ยืมที่เป็นข้าราชการนั้นมีตำแหน่งอะไร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ส่งข้อมูลจำนวนผู้กู้ยืมให้แต่ละกระทรวงแล้ว เพื่อใช้การกระตุ้นข้าราชการให้เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา กยศ. ได้ให้นักเรียนและนักศึกษา กู้ยืมเงินเพื่อเรียนหนังสือไปแล้วกว่า 4.5 ล้านราย รวมเป็นเงินมูลค่ากว่า 4.7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ค้างชำระหนี้มากถึง 60% ทำให้กองทุนฯ ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความติดตามทวงหนี้กว่า 3,200 ล้านบาท ขณะที่ได้เงินกลับคืนมาเพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น

 

ทั้งนี้ เพื่อจูงใจให้ผู้ค้างชำระหนี้จ่ายเงินคืนกองทุน กยศ. จึงมีมาตรการกระตุ้นการชำระหนี้ โดยร่วมมือกับองค์กรนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) สร้างความรับผิดชอบให้บุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมให้ชำระหนี้คืนกองทุน เพื่อให้งบประมาณแผ่นดินหมุนเวียนกลับสู่กองทุน และส่งผ่านโอกาสให้ผู้กู้ยืมรุ่นหลังต่อไป

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ