กรมสุขภาพจิต เตือนแชร์คลิปผู้ป่วยทางจิต ระวังโทษ “ปรับ” – “ติดคุก”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แนะ “ครอบครัว” และ “สังคม” เรียนรู้ เข้าใจ และให้กำลังใจผู้ป่วย “ไบโพลาร์”

 

จากกรณีหญิงสาวขับรถชนรถแท็กซี่และออกมาเดินเปลือยกายกลางถนน โดยมีการส่งต่อคลิปวีดีโอและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ ซึ่งต่อมาภายหลังพี่ชายระบุว่าน้องสาวของตนป่วยเป็น “โรคไบโพลาร์” นั้น

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต

 

กรมสุขภาพจิต ได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคดังกล่าว พร้อมระบุว่าผู้ป่วยทางจิตมีสิทธิ์ได้รับการคุ้มครอง โดย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “โรคไบโพลาร์” หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคอารมณ์ผิดปกติที่พบได้บ่อยในทั่วโลก ประมาณ 1-2% พบได้ในผู้หญิงและผู้ชาย สามารถรักษาให้หายและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยการได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง รวมทั้งการรักษาด้วยการรับประทานยาอย่างต่อ แต่หากไม่ได้รับการรักษาหรือติดตามดูแลอย่างเหมาะสม สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ 80-90%

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยได้มี พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ที่บัญญัติขึ้น เพื่อให้การคุ้มครองสังคมจากอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น จากผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตและมีภาวะอันตราย ในขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้ป่วยจิตเวช ให้ได้รับการบำบัดรักษาได้อย่างทั่วถึงและมีมาตรฐาน ดังนั้น หากพบเห็นผู้ที่มีอาการทางจิต ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสาธารณะ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือสายด่วน 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน  เพื่อขอความช่วยเหลือในการนำส่งโรงพยาบาลได้ทันที โดยไม่ต้องกลัวความผิดจากญาติของผู้นั้นจะมาฟ้องร้อง

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมสุขจิต ย้ำว่า กฎหมายดังกล่าวยังได้คุ้มครองสิทธิในการเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วย รวมไปถึงการโฆษณาหรือการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศใดๆ ที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วยด้วย ซึ่งการฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข

 

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยไบโพลาร์จะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ในลักษณะที่แตกต่างกันคนละขั้ว โดยมีความผิดปกติในระยะพลุ่งพล่านฟุ้งเฟ้อหรือมาเนีย (Mania) สลับกับระยะซึมเศร้า (Depression)  โดยในระยะพลุ่งพล่านฟุ้งเฟ้อ อารมณ์จะเปลี่ยนแปลงง่าย มีความมั่นใจในตัวเองมาก  ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่หลับไม่นอน ไม่คิดถึงกฎเกณฑ์ของสังคม หากถูกห้ามปรามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการ จะหงุดหงิดฉุนเฉียว

ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพบมีอาการหลงผิดแบบมีความสามารถพิเศษเหนือคนอื่นจนถึงมีภาวะหวาดระแวงได้  ส่วนในระยะซึมเศร้า จะรู้สึกหดหู่ เบื่อหน่าย จิตใจไม่สดชื่น อารมณ์อ่อนไหวง่าย ร้องไห้ง่าย ไม่อยากพบใครหรือไม่อยากทำอะไร เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นั่งเฉยๆ นานเป็นชั่วโมง ใจลอย หลงๆ ลืมๆ ไม่มั่นใจ ตัดสินใจไม่ได้ คิดว่าตนเองเป็นภาระและหากมีอาการหนักจะถึงขั้นฆ่าตัวตาย

“สาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคที่สำคัญ ได้แก่ ปัจจัยทางชีวภาพ คือ ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยเสริม เช่น ประสบวิกฤตการณ์หรือมีเหตุการณ์พลิกผันของชีวิต หรือมีปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ ได้แก่ การอดนอน การใช้สารเสพติด หรือยากระตุ้น”

พญ.พรรณพิมล อธิบายว่าในส่วนของญาติและคนใกล้ชิดผู้ป่วย ควรร่วมเรียนรู้ เข้าอกเข้าใจ และให้กำลังใจ ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยกินยา ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ พร้อมกับหมั่นสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของผู้ป่วย รีบพาไปพบแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก สำหรับวิธีป้องกันนั้น ควรปรับวงจรการกิน การนอนให้ปกติ และสม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมคลายเครียด ไม่ใช้สารเสพติด เช่น สุรา ยากระตุ้น ตลอดจนหมั่นสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง เรียนรู้อาการเริ่มแรก และรีบพบแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก 

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ