แนะไม่ควรจ้องมอง “สุริยุปราคา” นานเกินครั้งละ 5 นาที
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
ย้ำอย่ามองผ่านช่องมองภาพ ในกล้อง DSLR เพราะจำทำให้ตาบอดถาวร

เชื่อว่าขณะนี้หลายคนคงตื่นเต้น กับการเฝ้าดูปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ “สุริยุปราคา” ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ เวลาประมาณ 06.20 น. – 08.40 น. โดยในประเทศไทยแม้จะเห็นเพียงบางส่วน แต่เพราะคนไทยไม่ได้เห็นปรากฎการณ์นี้ มานานถึง 20 ปีเต็ม ในครั้งนี้ทุกคนจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ
แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า การสังเกตปรากฎการณ์ดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องมีอุปกรณ์สำหรับกรองแสงอาทิตย์ ไม่สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า เพราะจะส่งผลเสียต่อดวยตา ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดได้เลยทีเดียว
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ “สดร.”
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ “สดร.” ย้ำว่าการสังเกตปรากฎการณ์สุริยุปราคา ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ห้ามสังเกตด้วยตาเปล่าเด็ดขาด การจ้องมองดวงอาทิตย์โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน อาจนำอันตรายมาสู่ดวงตาถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรง จำเป็นต้องมีอุปกรณ์กรองแสงที่มีคุณภาพ สำหรับกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ ที่สำคัญขณะทำการสังเกต ไม่ควรจ้องดวงอาทิตย์นานเกิน 5 วินาทีต่อครั้ง และควรหยุดพักเป็นระยะเพื่อให้เกิดความปลอดภัย
วิธีการสังเกตดวงอาทิตย์โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงผ่านอุปกรณ์กรองแสง และการสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม
วิธีที่ 1 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรง เป็นวิธีการการสังเกตดวงอาทิตย์ด้วยตาผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสง แว่นดูดวงอาทิตย์ที่ทำจากแผ่นพอลิเมอร์ดำหรือแผ่นกรองแสงไมลาร์ หรืออุปกรณ์ง่ายๆ เช่น กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า
ตัวอย่างอุปกรณ์ช่วยในการสังเกตการณ์
1. กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ หรือกล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสงแบบกระจกเคลือบโลหะ
2. แว่นดูดวงอาทิตย์ทำจากแผ่นกรองแสงพอลิเมอร์ดำ
3. แผ่นกรองแสงอะลูมิเนียมไมลาร์
4. กระจกแผ่นกรองแสง สำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะเบอร์ 14 หรือมากกว่า
5. ไม่ควรใช้ฟิล์มเอกซเรย์(หากใช้ต้องซ้อนกันสองชั้น) ฟิล์มถ่ายรูปใช้แล้ว แผ่นซีดี แว่นกันแดด กระจกรมควัน แผ่นฟิล์มกรองแสงสีดำที่ใช้ติดกระจกรถยนต์ สิ่งของเหล่านี้แม้จะมีสีดำสนิทก็ตาม แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยต่อสายตา เพราะสิ่งเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพในการกรองแสงไม่เพียงพอ ถึงแม้จะกรองความเข้มแสงออกไปได้ แต่ยังไม่สามารถกรองแสงบางช่วงคลื่น ที่เป็นอันตรายต่อสายตาออกไปได้
วิธีที่ 2 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม เป็นการดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพหรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อมเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยไม่เกิดอันตรายต่อดวงตาและช่วยให้สามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน มีวิธีการดังนี้
1. ใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงจากดวงอาทิตย์แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ใกล้ตา
2. การฉายภาพดวงอาทิตย์จากกล้องสองตาและใช้ฉากรับ โดยทั่วไปแล้วกล้องสองตาเป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างที่จะหาได้ง่ายที่สุด ซึ่งกล้องสองตาขนาดเล็กทั่วไปเหล่านี้มักมีกำลังขยายประมาณ 7 – 10 เท่า
3. การฉายภาพดวงอาทิตย์จากโซลาร์สโคป (Solarscope) ใช้หลักการรวมแสงให้ไปฉายบนฉากรับภาพ
4. ใช้หลักการของกล้องรูเข็ม ประดิษฐ์กล้องรูเข็มด้วยวิธีง่าย ๆ โดยการเจาะรูเล็กๆ บนวัสดุที่ต้องการ นำไปส่องกับแดดแสงแดดก็จะลอดผ่านรูที่เจาะไว้ตกลงบนฉาก ซึ่งอาจเป็นกระดาษ พื้นโต๊ะ หรือพื้นดิน รูปร่างของรูที่เจาะไม่มีผลต่อภาพบนฉาก แต่จะมีผลต่อความคมชัดและความสว่างของภาพ โดยรูปขนาดเล็กจะให้ภาพที่คมชัดแต่มีความสว่างน้อย รูขนาดใหญ่จะให้ความสว่างมากแต่ความคมชัดของภาพจะลดน้อยลง
5.การสังเกตการณ์ทางอ้อมผ่านแสงอาทิตย์ ที่ลอดผ่านต้นไม้ตกบนพื้นหรือกำแพง
นอกจากนี้ ดร.ศรัณย์ ยังบอกด้วยว่า การบันทึกภาพดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิตัล หรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะกล้องถ่ายภาพ DSLR ที่ติดเลนส์ที่มีกำลังขยายสูง ห้ามถ่ายภาพดวงอาทิตย์โดยปราศจากแผ่นกรองแสง และห้ามใช้ตาเล็งจากช่องมองภาพโดยตรงเด็ดขาด เนื่องจากเลนส์ของกล้องต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติในการรวมแสงและความร้อน การมองภาพที่ส่องจากเลนส์ไปยังดวงอาทิตย์โดยตรง ภาพของดวงอาทิตย์ที่ได้จากอุปกรณ์ดังกล่าวจะมีความสว่างจ้ามาก อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการมองเห็นอย่างถาวรทันที และอาจเกิดความเสียหายต่อตัวอุปกรณ์ดังกล่าวได้เช่นกัน
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้