เผย "70 เมกะโปรเจค" ได้ประโยชน์จากคำสั่ง คสช.
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
กระทรวงทรัพยากรฯ ยืนยันคำสั่ง คสช. ไม่กดดันกระบวนการอนุมัติ "อีไอเอ"

ภายหลังนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และองค์กรเครืองข่ายภาคประชาชน ออกมาคัดค้านคำสั่งที่ 9/2559 ของ คสช. ซึ่งอนุญาตให้รัฐสามารถดำเนินการหาบริษัทเอกชน เข้ามาดำเนินการโดยไม่ต้องรอให้ รายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) อนุมัติก่อนนั้น
วันนี้ (10 มี.ค.2559) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการจัดทำ รายงานอีเอไอ ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจต่อผู้สื่อข่าว เกี่ยวกับข้อกังวลของนักวชาการและเครือข่ายภาคประชาชน ที่ออกมาเรียกร้องให้ทบทวนและยกเลิกคำสั่งดังกล่าว
นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ
โดย นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ ยืนยันว่าคำสั่งดังกล่าวของ คสช. ไม่ได้เป็นการปลดล็อคขั้นตอนการทำอีไอเอ เพราะการอนุญาตให้รัฐหาเอกชนเข้ามาดำเนินการควบคู่ไปได้ก่อนนั้น ในคำสั่งได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการไม่สามารถให้สิทธิเอกชน ในการลงนามเพื่อผูกพันในสัญญา หมายความว่าในท้ายที่สุดหากโครงการไม่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี ในทางปฏิบัตินอกจากจะไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้แล้ว บริษัทเอกชนก็ไม่มีสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นประโยชน์ที่ประชาชนและประทศชาติจะได้รับ
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ก่อนที่จะสามารถทำการประมูลหาผู้รับเหมาได้นั้น ตามปกติจะต้องรอให้รายงานอีไอเอได้รับอนุมัติก่อน ซึ่งในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาอีกประมาณหนึ่งปีครึ่งถึงสองปี แต่เพื่อให้การพัฒนาในโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนใน 5 ด้าน ได้แก่ คมนาคมขนส่ง ชลประทาน ป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัย ให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น รัฐบาลจึงเห็นสมควรลดระยะเวลาในส่วนนี้ลง เพราะกระบวนการทั้งสองสามารถทำควบคู่กันไปได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อกัน
นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ด้าน นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่าการดำเนินการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ที่เข้าข่ายต้องทำรายงานอีเอไอยังคงต้องทำตามขั้นตอนปกติ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 2535 เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนกฎหมาย ดังนั้น ข้อกังวลที่ทางเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชน ระบุวาคำสั่งดังกล่าวของ คสช. มีผลทำให้กระบวนการพิจารณาอนุมัติอีไอเอ ผ่านความเห็นชอบได้ง่ายกว่าปกตินั้น ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นเช่นนั้น และที่สำคัญคำสั่งนี้ไม่ได้กดดัน และเร่งรัดกระบวนการพิจารณาอีไอเอแต่อย่างใด
"ขณะนี้มีโครงการที่จะที่ได้รับประโยชน์จากคำสั่งนี้ 70 โครงการ กว่าครึ่งเป็นโครงการด้านคมนามคม โดยเฉพาะระบบรางและการสร้างมอเตอร์เวย์ สำหรับเหตุผลที่ คสช. ออกคำสั่งนี้ เข้าใจว่าต้องการช่วยให้โครงการร่วมทุน เช่น โครงการรถไฟระบบรางคู่ สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น เพราะตามปกติหากต้องรออีไอเอผ่านความเห็นชอบ ซึ่งใช้เวลาประมาณสองปี จะทำให้การพิจารณาด้านงบประมาณ และการร่วมทุนซึ่งใช้เวลาอีกประมาณสองปีนั้นล่าช้าออกไปอีก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศ"
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้