ชี้อุบัติเหตุ SCB เกิดจากการละเลย “แผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน”
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
นักวิชาการชี้ แม้สาร “ไพโรเจน” จะมีพิษต่ำ แต่การขาดการประเมินความเสี่ยงและบริหารความปลอดภัย คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย

กรณีระบบดับเพลิงชนิดพิเศษของธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ เกิดเหตุขัดข้อง จนทำให้ผู้รับเหมาที่เข้าไปปรับปรุงระบบดับเพลิงเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากขาดอากาศหายใจเพราะไม่สามารถออกมาภายนอกห้องนิรภัยได้นั้น
วันนี้ (15 มี.ค. 2559) ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าเหตุการณ์คนงานขาดอากาศจากสารไพโรเจน เคยเกิดขึ้นที่อาคารแห่งเดียวกันนี้เมื่อปีที่ผ่านมา ดังนั้นอุบัติเหตุครั้งล่าสุดจึงไม่ใช่สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น โดยจากการสรุปสาเหตุการเสียชีวิตในเบื้องต้น ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่าเหตุใดผู้เกี่ยวข้อง จึงไม่เตรียมความพร้อมในกรณีที่อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ทั้งที่ทราบดีว่าพื้นที่ที่ผู้รับเหมาเขาไปทำงานนั้นมีความเสี่ยง ในทางปฏิบัติทำไมถึงไม่เตรียมเครื่องช่วยหายใจสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน ที่สำคัญตามปกติหากต้องมีคนงานเข้าไปทำงานในพื้นที่ลัษณะนี้ สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือการตัดระบบอัตโนมัติ เปลี่ยนไปใช้ระบบระบบแมนนวลชั่วคราว เพื่อป้องกันกรณีที่เกิดปัญหาจะได้แก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
“เนื่องจากห้องที่เกิดเหตุเป็นห้องที่มีระบบความปลอดภัยสูง ทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินคนที่อยู่ข้างในไม่สามารถออกมาภายนอกได้ สุดท้ายจึงเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ แต่ด้วยลักษณะห้องที่มีระบบป้องกันหลายชั้นเช่นนี้ เหตุใดเวลามีคนนอกเข้าไปทำงานในพื้นที่เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน ถึงไม่มีคนของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่คอยกำกับและควบคุมความปลอดภัยอยู่ใกล้ๆ”
ด้าน ผศ.ศรัณย์ เตชะเสน ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าสาเหตุที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้สารไพโรเจนในการดับไฟ เนื่องจากใช้ในจำนวนที่น้อยกว่าสารอื่นๆ หลายเท่า แต่ได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า ทั้งนี้ หากโฟกัสไปที่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้น ตามหลักการแล้วการที่ระบบดับเพลิงอัตโนมัติจะทำงานในแต่ละครั้ง โดยทั่วไปจะต้องมีฝุ่นควันหรือความร้อนที่มากพอ เพื่อให้ระบบแน่ใจว่าเกิดไฟไหม้ขึ้นจริงๆ จึงเริ่มต้นทำงานอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ระบบจะฉีดพ้นสารจะต้องมีช่วงเวลาดีเลย์ หรือที่เรียกว่าระบบสโลว์สตาร์เพื่อให้คนที่อยู่ในห้อง สามารถไปกดปิดระบบอัตโนมัติได้ หากประเมินแล้วว่าสามารถดับได้ด้วยตัวเอง
“ตามข้อมูลในคู่มือระบุว่าสารไพโรเจนมีพิษน้อย แต่การสัมผัสจนถึงขั้นได้รับอันตรายจนเสียชีวิตนั้น เกี่ยวข้องกับระยะเวลาด้วย กรณีนี้จึงสรุปว่าแม้ตัวสารเคมีชนิดนี้มีความอันตรายต่ำ แต่เพราะขาดการบริหารจัดการความเสี่ยง จึงทำให้ผู้ที่อยู่ภายในไม่สามารถหนีออกมาข้างนอกได้ทันเวลา”
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้