ชาวมาบตาพุดไม่เชื่อปลาตายเกิดจากแพลงก์ตอนบลูม (คลิป)
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
หลายหน่วยงานเร่งตรวจสอบหาสาเหตุปลาจำนวนมากตายบนชายหาดในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เบื้องต้นศูนย์วิจัยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออกระบุว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนสาเหตุอาจมาจากแพลงก์ตอนบลูม

เช่นเดียวกับความเห็นของนักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 13 ที่วันนี้ (16 มี.ค. 59) ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำบริเวณหาดตากวน อำเภอมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อส่งให้กรมควบคุมมลพิษตรวจสอบ โดยคาดว่าจะทราบผลภายใน 1 สัปดาห์ โดยนายยุทธนา ตันวงศ์วาล นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 13 บอกว่าสาเหตุน่าจะมาจากแพลงก์ตอนบลูมที่มีมากในระยะนี้ ทำให้ปลาลอยขึ้นมาตายจำนวนมาก
ขณะที่นักวิชาการทางทะเลอย่างผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงสาเหตุที่ปลาตายผ่านเฟซบุ๊กว่าปลาส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นปลาสลิดหิน ปลาเก๋า ปลาเสือ ทั้งหมดเป็นปลาหน้าดิน หากเกิดจากสารพิษที่ถูกปล่อยลงทะเลจริงปลาพวกนี้น่าจะหนีทัน ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากแพลงก์ตอนบลูมที่มีมากในช่วงฤดูร้อนทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง แต่สาเหตุที่แพลงก์ตอนบลูมมีมาก ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาน้ำเสีย
ด้านศูนย์วิจัยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่ายไทยฝั่งตะวันออก (ระยอง) ตรวจสอบคุณภาพน้ำ เบื้องต้นพบอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 3 เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ยกเว้นค่าความเป็นกรด-ด่าง มีค่าสูงกว่าเกณฑ์
หากลองเปิดแผนที่จากกูเกิลแมพ จะเห็นว่าหาดตากวนอยู่ไม่ไกลจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และเมื่อสังเกตจะเห็นคลองสายเล็กๆสายหนึ่ง ปากคลองอยู่ห่างจากหาดตากวนประมาณ 1 กิโลเมตร คลองนี้ชื่อคลองซากหมาก เป็นคลองระบายน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานต่างๆในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดก่อนปล่อยลงทะเล จากข้อมูลนี้เองทำให้ เครือข่ายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดระยอง ตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่ปลาตายอาจเป็นเพราะสารพิษ มากกว่าแพลงก์ตอนบลูม และอยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
ด้านชาวบ้านมาบตาพุดไม่เชื่อว่าสาเหตุปลาตายเกิดจากแพลงก์ตอนบลูม !
ภาพถ่ายปลาตายชุดนี้ เป็นภาพที่ชาวบ้านบันทึกไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา ก่อนจะเกิดเหตุลักษณะเดียวกันขึ้นอีกวานนี้ (15 มี.ค. 59) แสดงให้เห็นว่าในระยะเวลาเพียง 1 เดือน มีปรากฎการณ์ปลาตายที่หาดตากวน ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง แล้วถึง 2 ครั้ง นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านไม่เชื่อว่าปลาตายจะเกิดจากแพลงก์ตอนบลูม ตามที่หลายหน่วยงานบอก
แม้ปลาที่ตายเกลื่อนหาดวันนี้จะถูกเก็บและฝังกลบไปอย่างรวดเร็ว ราวกับไม่เคยมีสิ่งใดเกิดขึ้น แต่กลิ่นเหม็นยังคงคละคลุ้งอยู่ทั่วบริเวณ ขณะที่น้ำทะเลบริเวณนี้มีสีที่ผิดธรรมชาติ
จากการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลของสำนักงานสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นบอกได้เพียงค่าความเค็ม ความขุ่นของน้ำ และค่าออกซิเจน ที่ระบุว่าเป็นปกติ ส่วนค่าโลหะหนักหรือสารปนเปื้อน ต้องส่งตัวอย่างน้ำทะเลไปตรวจในห้องแล็ป ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 1 สัปดาห์ จึงจะทราบผล
ทั้งนี้ปรากฎการณ์ปลาตายบนชายหาดจำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องใหม่ของคนมาบตาพุด ชาวบ้านบอกว่าทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุ คำอธิบายของหน่วยงานมักโยงไปถึงเรื่องแพลงก์ตอนบลูม มากกว่าเรื่องสารพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงาน ทั้งที่บริเวณนี้อยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และมีคลองซากหมากที่ระบายน้ำจากโรงงานลงสู่ทะเลโดยตรง ขณะที่การตรวจสอบใช้เวลานานและผลมักจะออกมาในทำนองคุณภาพน้ำปกติ ทั้งที่สภาพทางกายภาพขัดแย้งกัน
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้