ส่วนในบ้านเรา ตลอดหลายวันที่ผ่านมา ทีมข่าวพีพีทีวีลงสำรวจแถบอันดามัน เริ่มพบปะการังเปลี่ยนเป็นสีขาวบ้างแล้ว เราจะรวบรวมมาให้ดูกัน ที่แรกที่ทีมข่าวพีพีทีวีลงพื้นที่ ไปคือ เกาะยูง บริเวณหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ภาพที่เห็นเป็นปะการังโต๊ะเขากวาง ที่ระดับความลึก3-5 เมตร เริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวทั้งแผ่น อุณหภูมิน้ำอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียล ภาพนี้ถ่ายได้เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนปะการังชนิดอื่นบริเวณเดียวกันสีเริ่มซีดลง แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีคำสั่งปิดเกาะยูง ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังที่เสียหายจากการท่องเที่ยว และรักษาแหล่งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ รวมถึง ให้ปะการังได้พักฟื้นแข็งแรงพอจะรับมือกับปะการังฟอกขาว แม้สถานการณ์ปะการังฟอกขาวจะถูกพูดถึงและถูกคาดการณ์ว่าปีนี้จะรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี เพราะผลพวงจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ปัจจัยที่ทำให้แนวปะการังเสียหาย ไม่ได้มาจากปะการังฟอกขาวเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นแวดล้อมที่ส่งผลเสียต่อแนวปะการัง ถึงแม้จะเกิดภาวะฟอกขาวขึ้นหรือไม่ก็ตาม วันนี้เราก็ควรหันมาดูสถานการณ์แนวปะการังในบ้านเรา โดยจากตัวเลขที่เห็นอยู่นี่เรียกได้ว่า น่าเป็นห่วง
ปัจจุบันสถานภาพและคุณภาพแนวปะการังของไทยทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย มีพื้นที่รวมกัน 148,954ไร่ แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทย75,590 ไร่ อันดามัน 75,590 ไร่
ส่วนคุณภาพของปะการังที่มีอยู่ ตัวเลขนี้น่าตกใจ จะเห็นว่า มีปะการังคุณภาพดีมากเหลือรวมกันทั้งของอ่าวไทยและอันดามัน เพียงร้อยละ 4.1 เท่านั้น ขณะที่คุณภาพดี รวมกันเหลืออยู่ที่ร้อยละ7.3 คุณภาพปานกลางมีร้อยละ31.8
อยู่ในสภาพเสียหายฝั่งอ่าวไทยมีร้อยละ32.2 อันดามันร้อยละ24 และปะการังที่เสียหายมาก อันดามันมีสูงถึงร้อยละ53.8 ขณะที่ฝั่งอ่าวไทยมีร้อยละ46.7
จากตัวเลขสถานภาพและคุณภาพของปะการังของไทยที่เหลือดีอยู่เพียงน้อยนิด ทำให้วันนี้ หลังมีกระแสปะการังฟอกขาว ก็ทำให้นักวิชาการทางทะเล รวบรวมข้อมูล นำเสนอ ต่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้พิจารณา หารือร่วมกัน ที่จะปิดจุดดำน้ำ กว่า 90 จุด ทั่วประเทศ โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน ที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวมากที่สุด และปะการังเสียหายมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้แนวปะการังได้พักฟื้นแข็งแรงมากพอที่จะรับมือกับภาวะฟอกขาว ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงสามารถฟื้นตัวได้
จากข้อมูลที่นักวิชาการใช้เวลารวบรวมนาน กว่า 6 ปี โดยพิจารณาจากคุณภาพปะการังและขีดความสามารถของปะการังที่จะฟื้นตัว จึง เสนอให้ปิดจุดดำน้ำฝั่งอันดามันดังนี้
-หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา 7 จุด แบ่งเป็นประการังคุณภาพดีมาก 4 จุด ปานกลาง 1 จุด และคุณภาพแย่ 2 จุด
-หมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดภูเก็ต รวม เกาะตาชัย และเกาะบง รวม 9 จุด แถบนี้ เป็นปะการังคุณภาพดี 1 จุด นอกนั้นอยู่ในสภาพคุณภาพปานกลาง ไปจนถึงแย่ ซึ่งต้องได้รับการปิดฟื้นฟูโดยด่วน
-หมู่เกาะ ในจังหวัดภูเก็ต 5 จุด เป็นปะการังคุณภาพแย่ทั้งหมด
-เกาะยาวน้อยยาวใหญ่ เสนอปิดทั้งหมด 7 จุด
-หมู่เกาะในจังหวัดตรัง เสนอปิด 5 จุด
-และที่สุดท้ายจังหวัดสตูล ในโซนเกาะอาดัง-ราวี เสนอปิดทั้งหมด 12 จุด จะเห็นว่าโซนนี้เป็นโซนปะการังคุณภาพดี ทั้งสิ้น โดยนักวิชาการมองว่า เหมาะกับการรักษาไว้เป็นแหล่งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์
ไม่ว่าจะเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ เราใช้ทรัพยากรทางทะเล อย่างแนวปะการังไปกับกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มากเกินไป บางแห่งแนวปะการังพังเสียหายไปโดยไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้ แต่ที่เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล มีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า Reef Guardian รวมตัวกันเพื่อรักษาแนวปะการังไว้มานานกว่า 10 ปี ทำให้วันนี้ พื้นที่จังหวัดสตูลยังคงมีแนวปะการังที่สวยงามสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง ไปติดตามรายงานจากคุณปิติพร เพรามธุรสเกาะหินซ้อน หมู่เกาะหนึ่งในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา เป็นพื้นที่ ที่เครือข่าย Reef Guardian ขอความร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการงดนำนักท่องเที่ยวมาดำน้ำ เพราะแนวปะการังแถบนี้พังเสียหายอย่างมากเมื่อปีก่อน
หลังปิดพื้นที่ไป1 ปี วันนี้เราพบว่า โขดหินที่เคยร้างว่างเปล่า มีปะการังอ่อนมาเกาะ และฟื้นตัวอย่างน่าชื่นใจ
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ของแนวปะการังที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อไร้สิ่งรบกวน
สถานการณ์อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น ทำให้กลุ่ม Reef Guardian ต้องเฝ้าระวังแนวปะการังในแถบหมู่เกาะตะรุเตาอย่างใกล้ชิด วันนี้อาสาสมัคร นำเครื่องวัดอุณหภูมิใต้น้ำมาติดตั้งไว้ 2 ตัวบริเวณทะเลโซนนอก และโซนกลาง เพื่อเก็บข้อมูล และยังสำรวจแนวปะการังตามเกาะต่างๆ เพื่อสังเกตความผิดปกติแม้สถานการณ์ปะการังฟอกขาวจะเป็นสิ่งที่น่ากังวล แต่เพราะจิตสำนึกที่ดีของคนในชุมชน และผู้ประกอบการ ที่จะรักษาแนวปะการังไว้ให้ดีที่สุด ทำให้ กลุ่ม Reef Guardian เชื่อมั่นว่า จะสามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ เพราะ แนวปะการังแถบนี้แข็งแรงพอ จากการพยายามเฝ้าดูแลมาตลอดกว่า 10 ปี
การท่องเที่ยว ที่ถาโถมเข้ามา อาจเป็นสิ่งที่ต้านทานได้ยากสำหรับในโลกปัจจุบัน การจัดการทรัพยากรจึงเป็นสิ่งสำคัญ และนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย สถานการณ์ปะการังฟอกเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่จะสร้างความเสียหายให้กับแนวปะการัง แต่การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองต่างหากที่ จะทำให้ทุกอย่างถูกทำลายลง