เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเตรียมการรองรับเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2559 โดยนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการเกิดอุบัติเหตุเป็นอัน 2 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ที่พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 2.3 คน/ชั่วโมง บาดเจ็บ 160 คน/ชั่วโมง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงร่วมกันออกมาตรการเพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้ดีที่สุด คือการที่ประชาชนต้องตระหนักถึงความปลอดภัย ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่ คาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกนิรภัย และก่อนเดินทางต้องพักผ่อนให้เพียงพอ
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ทางด้านสุขภาพ อาทิ เตรียมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ทีมแพทย์เคลื่อนที่เร็วที่สามารถเข้าพื้นที่เกิดอุบุติเหตุได้ภายใน 10 นาที รวมทั้งประสานกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ( สพฉ.) เรื่องการเข้าพื้นที่เกิดอุบัติเหตุและการส่งต่อผู้ป่วยทั้งทางน้ำและทางอากาศ พร้อมทั้งยังได้กำชับให้มีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการจำหน่ายในสถานที่ห้ามจำหน่าย และการจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงกรมควบคุมโรคจะมีการลงพื้นที่เพื่อติดตามการปฏิบัติงานด้วย
ขณะที่นายนนท์จิตร เนตรพุกกณะ ผู้อำนวยการกองกิจการชุมชนและบริการสังคม กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.)กล่าวว่า การลงโทษผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ด้วยการให้บำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ เช่น ทำความสะอาดถนน และตัดกิ่งไม้ ฯลฯ พบว่า ผู้กระทำผิดยังไม่หลาบจำ ดังนั้นเมื่อเร็วๆ ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขให้ผู้ประพฤติผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ต้องเข้าไปช่วยบุคลากรสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุ แต่จากการประเมินผลในช่วงเทศกาลปีใหม่ ยังพบสถิติผู้กระทำผิดเพิ่มขึ้น ซึ่งมีทั้งผู้ที่กระทำผิดซ้ำ และผู้กระทำผิดรายใหม่ ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มวัยรุ่น ดังนั้นกรมคุมประพฤติจึงได้เสนอมาตรการบำเพ็ญประโยชน์อย่างเข้มข้นด้วยการให้เข้าไปช่วยเหลืองานในห้องดับจิตของโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดความหลาบจำ โดยเรื่องนี้ได้เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะเริ่มพิจารณาในกลุ่มที่กระทำความผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะสามารถบังคับใช้ได้ต้องให้ศาลสั่งการ จากนั้นผู้กระทำผิดต้องมารับทราบบทลงโทษและทำข้อตกลงร่วมกับกรมคุมประพฤติต่อไป