จากการสำรวจปริมาณเสือโคร่งในไทยของโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ประเทศไทย พบว่า เวลานี้ ผืนป่าทั่วประเทศมีเสือโคร่งอยู่ไม่ถึง 200 ตัว พบมากสุดบริเวณผืนป่าตะวันตกในเขตอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง 80 ถึง 100 ตัว อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน 17 ตัว อุทยานแห่งชาติปางสีดา 6 ตัว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 2 ตัว ส่วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สำรวจไม่พบ
หากเปรียบประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง อย่างอินเดีย รัสเซีย เนปาล และภูฏาน สถานการณ์ของไทยก็ถือว่า วิกฤต เพราะต้องเผชิญกับภัยคุกคามหลายประการ ทั้งการล่าโดยตรง และ การเปลี่ยนผืนป่าเป็นเขื่อนเก็บน้ำ นี่คือเหตุผลที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางและทำงานเชิงรุก เพื่อเพิ่มปริมาณเสือโคร่ง และ เสือภายในวัดป่าหลวงตามหาบัว ก็อยู่ในข่ายที่จะส่งคืนสู่ผืนป่า
สำหรับขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นในการฟื้นสัญชาตญาณของเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ในวัดป่าหลวงตามหาบัว คือ กรมอุทยานฯจะทยอยขนย้ายอย่างที่กำลังทำอยู่มาพักไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จังหวัดราชบุรี ซึ่งที่นี่จะเตรียมกรงใหม่และวิธีการเลี้ยงดูแลใหม่ คือ การไม่ให้พบปะกับผู้คน นอกจากคนให้อาหารเพียงคนเดียว ส่วนอาหารก็จะเปลี่ยนจากซี่โครงไก่ต้มสุก เป็นซี่โครงไก่ดิบ เมื่อเริ่มปรับตัวได้ ก็จะลองปล่อยเข้าสู่ผืนป่าจำลอง ซึ่งเวลานี้ได้เตรียมพื้นที่หลังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างไว้แล้ว กระบวนการนี้จะมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าสังเกตุพฤติกรรม การล่า และการเอาตัวรอด หากสำเร็จก็จะปล่อยคืนสู่ผืนป่าเป้าหมาย แต่หากไม่สำเร็จกรมอุทยานฯ ก็พร้อมเลี้ยงดูเสือโคร่งเหล่านี้ตลอดชีวิต
แม้จะไม่สามารถการันตีความสำเร็จ แต่หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างไว้ ก็ยืนยันว่า จำเป็นต้องทำ เพราะถือว่า เป็นการช่วยแก้ปัญหาวิกฤตประชากรเสือโคร่งของประเทศไทย