เมื่อใครๆก็อยากถ่ายทอดสด.. รู้สักนิดก่อนจะเป็น “คอนเทนต์ขยะ”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กลายเป็นเรื่องฮือฮาในสังคม หลังจากที่ “เน วัดดาว” หรือ “นายมครินทร์ พุ่มสะอาด” วัย 26 ปี ได้ใช้อาวุธปืนทำร้ายตัวเอง และถ่ายทอดบนโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก จนมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง จนถึงมีการตั้งคำถามถึงเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่มเข้ามาบนเฟซบุ๊กอย่าง “เฟซบุ๊ก ไลฟ์”

สำหรับ “เฟซบุ๊ก ไลฟ์” ( Facebook Live) หรือการถ่ายทอดสดวิดิโอผ่านเฟซบุ๊ก จากแต่เดิมที่มีการโพสต์ภาพนิ่ง คลิปวิดิโอ หรือข้อความ แต่เมื่อเรากดไปที่สัญลักษณ์ไลฟ์นั้น ก็จะสามารถถ่ายทอดสดเหตุการณ์ในขณะนั้นให้เพื่อนดู และสามารถเก็บไว้ดูภายหลังได้ สำหรับในประเทศไทยจะเห็นได้บ่อย เมื่อสำนักข่าวมีการนำมาใช้เพื่อในการรายงานข่าวเพิ่มมากขึ้น ในการรายงานข่าวสำคัญๆ เพื่อเรียกผู้ชมให้เข้ามาติดตาม ขณะเดียวกันก็ยังเปิดให้ใช้ส่วนบุคคลได้ใช้ทั่วไปแล้ว


ทีมข่าวนิวมีเดีย PPTV ได้สอบถามมุมมองเรื่อง “เฟซบุ๊กไลฟ์” กับ “ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่กลายเป็นของเล่นชิ้นใหม่ในโลกโซเชียลมีเดียของคนหลากหลายวัยที่เลือกใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนในโลกออนไลน์ โดยมองว่าเฟซบุ๊กไลฟ์ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและมีผู้ใช้เยอะขึ้น

ดร.มานะ สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านสังคมไทยกับการใช้โซเชียลมีเดีย ในขณะนี้ว่า ปัจจุบันมีการใช้ "เฟซบุ๊ก ไลฟ์" อย่างแพร่หลายขึ้น สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว จากมุมมองของคนที่หลากหลาย จากที่เมื่อก่อนสื่อกระแสหลักจะถ่ายทอดสด ก็ต้องใช้รถโอบี หรือใช้เครื่องมือที่มีราคาแพงไปถ่ายทอดสดในสถานที่นั้นๆ แต่พอมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ก็ทำให้มีการสามารถนำเสมอเรื่องราวได้แบบเรียลไทม์ แต่ข้อด้อยของมันก็คือ "ความเร็ว" ที่ไม่ถูกกลั่นกรองเสียก่อน หากเป็นสื่อมวลชนจะมีกระบวนการคิดแบบกองบรรณาธิการ หรือมีการกลั่นกรองในระดับหนึ่งก่อน ส่วนคนทั่วไปนั้นจำเป็นต้องมีพื้นฐาน มีวิจารณญาน และมีสติมากๆ ก่อนจะโพสต์หรือถ่ายทอดสดลงไป เพราะพื้นที่เหล่านี้ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว อย่างกรณี "เน วัดดาว" ก็เป็นตัวอย่างของการนำเสนอเรื่องราวที่ไม่เหมาะสม เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ ที่มีกลุ่มก่อการร้าย หรือถ่ายทอดสดเรื่องที่เป็นสิ่งส่วนบุคคลมาสู่โลกออนไลน์ ที่มีการนำเสนอเรื่องอาจมีผลกระทบต่อตนเองและครอบครัวได้ 


คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ แนะนำว่า การใช้ "เฟซบุ๊ก ไลฟ์" ควรจะมีการเตรียมตัว เตรียมประเด็น และไม่ควรอยู่ในอารมณ์โมโห เพราะคำพูดอาจจะพาดพิงหรือหมิ่นประมาทผู้อื่นได้ ในระหว่างการถ่ายทอดสด และกรณีเนวัดดาว เป็นสิ่งที่ทำให้คนในสังคมต้องหันมาสังเกตพฤติกรรมของเพื่อนๆ ว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องบานปลายขึ้น ซึ่งเฟซบุ๊กไลฟ์ ก็คล้ายๆกับเราเล่นโซเชียลมีเดียแรกๆ ถ้าเข้าใจ และใช้เป็น จะกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ถ้าใช้ไม่เป็นก็อาจจะส่งผลเสียตามมา เหมือนอย่างที่เราเข้าใจแต่แรกว่าโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่ที่จริงแล้วมันไม่ใช่ ซึ่งต่อมาเราจะเข้าใจว่า ไม่ควรโพสต์ข้อความแบบนี้นะ ให้มันเป็นไปตามกระบวนการทางสังคม แต่ถ้าใช้กระบวนการทางกฎหมายมันไม่ทัน และอาจจะมีการลิดรอน สิ่งที่ดีๆ ของเทคโนโลยีตัวนี้ได้



ไม่ต่างจาก "อ.สกุลศรี ศรีสารคาม” หัวหน้าสาขาคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่มองว่า เฟซบุ๊ก ไลฟ์ เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ กลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่สามารถใช้ในการสื่อสารได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งสื่อมวลชน ผู้ใช้สามารถสร้างคอนเทนต์ของตัวเองได้ มองว่ามีข้อดีเยอะมาก หากเกิดเหตุการณ์สำคัญก็สามารถที่จะทราบความเคลื่อนไหวในเหตุการณ์นั้นๆ ได้ทันที โดยทีไม่ต้องถ่ายแล้วรอเซฟเพื่ออัพโหลดขึ้นไป เช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งพลังของโซเชียลมีเดียนั้น มีพลังกว่าทีวี คือมีการส่งต่อ แชร์ในขณะนั้นได้ทันที มีเครือข่าย หากเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดสดไป มีประโยชน์ ก็จะได้รับการช่วยเหลือที่ทันถ่วงที


 

สำหรับกรณี เน วัดดาว อ.สกุลศรี  มองว่า เขาก็ทราบว่าสิ่งที่เขาทำไปไม่เหมาะสม แต่ถ้าเขาทำจะมีคนสนใจเขา ตอบสนองสิ่งที่เขาต้องการเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ จนลืมคิดไปว่ามันเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม สำหรับเมืองนอกก็มีกรณีแบบนี้ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม การฆ่าตัวตายบนโลกโซเชียลมีเดีย พอมีปฏิกิริยาที่มีคนเข้าไปกดไลค์ แชร์ แสดงความคิดเห็นในแง่ลบ ก็ไม่สนใจ เพราะถือว่าได้ความนิยม เสพติดการแชร์ การไลค์ จึงคิดว่าทำไม่ผิด

 

"โดยก่อนหน้าที่จะมีเฟซบุ๊กไลฟ์ นั้นก็มีการ ถ่ายทอดสดในหลายแฟลตฟอร์มอยู่แล้ว แต่เมื่อมีเฟซบุ๊ก ไลฟ์เกิดขึ้น จากคนที่ชอบถ่ายคลิปวิดิโอ อยู่แล้ว ก็ชอบใจที่ สามารถถ่ายทอดสดในขณะนั้นได้เลย แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการถ่ายทอดสดที่ไม่เหมาะสม อย่างสื่อมวลชนจะมีการคัดกรองว่า อะไรที่สามารถถ่ายทอดได้  หากผู้ที่ไม่รู้เท่าทันสื่อ อีกไม่นานเราจะเห็นว่า จะมี “คอนเทนต์ขยะ” เพิ่มมากขึ้นในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสดที่ไม่เหมาะสม โป๊เปลือย ความคึกคะนอง หรืออย่างกรณีของเนวัดดาวเป็นตัวอย่างที่ดีให้เราได้ฉุกคิดเรื่องนี้ เพราะคนส่วนใหญ่เพียงเพื่ออยากจะได้ความนิยม จากยอดไลค์ ยอดแชร์ และอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบตามมา ซึ่งอาจเป็นดาบสองคม หากผู้ใช้ไม่ไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน" 


ทั้งนี้ อ.สกุลศรี ได้แนะนำว่า ควรจะมีการสร้างมาตรฐาน สร้างคอนเทนต์ดีๆ ก่อนที่จะโพสต์ หรือเลือกความสามารถของตัวเอง จะได้ดังนานและมีคุณภาพ ไม่ใช่การคิดคอนเทนต์ที่หวือหวา เพื่อหวังให้ดังเพียงข้ามคืน   คนที่ใช้สื่อออนไลน์จำเป็นต้องช่วยกันขจัดคอนเทนต์ขยะเหล่านี้ โดยการไม่ไลค์ ไม่แชร์ เมื่อเห็นว่าไม่เหมาะสม แล้วกดรายงานแจ้งว่าเนื้อหาไม่เหมาะสม เนื่องจากเมื่อเราแชร์ถึงแม้ไม่เห็นด้วย ก็จะยิ่งเพิ่มความนิยมให้เขา เราจึงต้องรู้เท่าทันสื่อ และสร้างมารยาทที่ดีร่วมกัน และเชื่อว่าในอนาคตจะมีคอนเทนต์ขยะเพิ่มขึ้น แต่อาจจะมาในเรื่องความแปลก ต่างๆ ทั้งดีและไม่ดี ความดราม่า ความขัดแย้ง เพราะคนมักจะชอบเสพเรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี

 

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ