โครงสร้างภาษีบุคคลใหม่ ใครได้ ใครเสีย ? (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาฉบับใหม่ ใครได้ ใครเสีย ?



กลายเป็นเรื่องดีใจของมนุษย์เงินเดือน หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาฉบับใหม่ เอาใจประชาชน ให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 26,000 บาท “ไม่ต้องเสียภาษี” แต่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เห็นว่าแม้โครงสร้างภาษีใหม่จะดีและเป็นประโยชน์สำหรับกลุ่มบุคคลจำนวนราว 8 ล้านคนจริง แต่อาจกระทบต่องบประมาณการพัฒนาประเทศในระยะยาว

ทันทีที่ “โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโฉมใหม่” ผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทำให้เป็นที่จับตามองของมนุษย์เงินเดือนหลายคน เพราะเนื้อหาโครงสร้างใหม่ระบุว่า บุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่า 26,000 ต่อเดือน “ไม่ต้องเสียภาษี” มีผลบังคับใช้ปีภาษี 2560

นี่คือสูตรคำนวณการเสียภาษีรูปแบบเก่า และรูปแบบใหม่ จะเห็นว่าการคำนวณมีลักษณะเหมือนกัน แตกต่างกันที่ค่าลดหย่อน และค่าใช้จ่าย ที่หักจากเงินได้รายปีต่างกัน และคนที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 2 หมื่น 6 พันบาท ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนบุคคลที่มีเงินเดือน 26,000 บาทจะเสียภาษีเพียงปีละ 100 บาทเท่านั้น

การปรับโครงสร้างภาษีรูปแบบใหม่ปี 2560 ครั้งนี้ นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ มองว่า เป็นการพลิกโฉมวงการภาษีของเมืองไทยในรอบกว่า 20 ปี ให้ทันสมัยมากขึ้น แต่ต้องคำนึงถึงภาพรวมการเก็บภาษีเพื่อการจัดงบประมาณของภาครัฐในระยะยาว โดยการขยายฐานการเก็บภาษีอื่นๆให้มากขึ้น

นี่เป็นตารางการเปรียบเทียบอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได 7 ชั้น รูปแบบเก่า และ รูปแบบใหม่ พบว่าทุกอย่างยังเก็บภาษีเหมือนเดิม มีเพียงอัตราการเก็บภาษีร้อยละ 35 ที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องเป็นบุคคลที่มีรายได้ตั้งแต่ 5,000,001 ขึ้นไป  ตรงนี้นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มองว่า เป็นโครงสร้างที่ไม่เหมาะสม เพราะคนได้ประโยชน์อยู่ในกลุ่มคนที่มีรายได้สูงเท่านั้น

แม้ว่ามาตรการปรับโครงสร้างภาษีฉบับใหม่จะต้องการออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจในการซื้อขายสินค้ามากขึ้น และอาจเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวต ได้ในอนาคต แต่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กลับคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากในอนาคต โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ต้องพึ่งพิงฐานคะแนนเสียงของประชาชน

 

ศักดิ์ดา ดุลยาชีวะ ถ่ายภาพ //ณิชาภัทร อินทรกล่อม รายงาน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ