วันนี้ (3 พ.ค.59) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงการณ์ เรื่อง การรับฟังประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ ใจความว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนและมีการเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็น การออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 22 เมษายน 2559 ตามที่ทราบโดยทั่วกันแล้วนั้น
กสม.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พบว่า นับจากวันที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 บังคับใช้ ได้มีบุคคล กลุ่มบุคคล แสดงความคิดเห็นในทางสนับสนุน และไม่สนับสนุนต่อร่างรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งมีการควบคุมตัว ดำเนินคดีต่อบุคคลที่แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจนำไปสู่บรรยากาศที่ไม่พึงประสงค์ของสังคมไทยซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศ จากสถานการณ์ที่ปรากฏ กสม. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทและหน้าที่ในการส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ปกป้องสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ตลอดจนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จึงมีข้อเสนอดังนี้
1.ขอให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญโดยสุจริต ถึงแม้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 บัญญัติไว้ให้ความหมายหลักว่า “การเผยแพร่จะต้องไม่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือไม่มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่” แต่การบังคับใช้กฎหมายควรคำนึงถึงบรรยากาศที่เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายผ่อนคลายในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และสร้างบรรยากาศในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศร่วมกัน
2.ขอให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ร่วมกันสร้างความสมานฉันท์ในการปฏิรูปประเทศ โดยควบคุม กำกับ ดูแล การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการตีความ เพื่อมิให้เกิดความไม่เป็นธรรมสร้างความขัดแย้ง ความแตกแยกในสังคม
3.ขอเรียกร้องประชาชนทุกภาคส่วนที่มีความเห็นต่าง ไม่ใช้สถานการณ์การรับฟังความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือการเอาชนะหรือความได้เปรียบกัน ซึ่งจะทำลายบรรยากาศการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ
4.การรับฟังความเห็นของประชาชน ควรเป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนที่ถือปฏิบัติกันตามพันธะกรณีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง