แตกตื่น! พบ “สารเคมี” ย่านพหลโยธิน 24 ยืนยันไม่มีการรั่วไหล

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ศูนย์วิทยุพระราม 199 แจ้งว่า พบสารเคมี ภายในโกดังคอนกรีต 2 ชั้น ย่านพหลโยธิน 24 แยก 2-1 พื้นที่เขตจตุจักร เบื้องต้นคาดว่าเป็นสารกัมมันตรังสี โคบอลต์ 60 ด้านเจ้าหน้าที่ เร่งอพยพประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมปิดกั้นจุดเกิดเหตุในระยะ 200 เมตร ล่าสุดตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นสารอิริเดียม 192 ที่ใช้ในการถ่ายทำภาพในโรงงานอุตสาหกรรม

(ขอขอบคุณภาพจาก ศูนย์วิทยุพระราม 199)

 

วันนี้ (12 พ.ค. 59) เวลาประมาณ 14.50 น. ศูนย์วิทยุพระราม 199 แจ้งว่า พบสารเคมีไม่ทราบชนิด ภายในซอยพหลโยธิน 24 แยก 2-1 พื้นที่เขตจตุจักร ลักษณะที่เกิดเหตุเป็นโกดังคอนกรีต 2 ชั้น ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักอนามัย 10-3  ขณะที่เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงสุทธิสารเร่งไปยังที่เกิดเหตุ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้น

(ขอขอบคุณภาพจาก ศูนย์วิทยุพระราม 199) 

 

เมื่อเวลา 15.12 น. จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ คาดว่า จะเป็นสารกัมมันตรังสี โคบอลต์ 60 ซึ่งเป็นสารอันตราย ขณะนี้เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงสุทธิสาร ได้ทำการปิดกั้นบริเวณจุดเกิดเหตุในระยะ 200 เมตร พร้อมทั้งอพยพประชาชนออกจากจุดดังกล่าว และได้ประสานงานสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ให้มาตรวจสอบสารดังกล่าว

 

 

เวลา 15.35 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติถึงที่เกิดเหตุ ส่วนรายละเอียดอยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ

 

ล่าสุด นายเทวฤทธิ์ เครือมณี ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตจตุจักร ระบุว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านเช่า โดยก่อนหน้านั้นมีชาวเกาหลีมาเช่า ซึ่งทำงานเกี่ยวกับโรงงานอุตสหกรรมที่จังหวัดระยอง เมื่อย้ายออกไปแล้วก็ไม่ได้เอาไปด้วย แต่เมื่อเจ้าของบ้านจะทำการปรับปรุงบ้าน ก็เข้าไปเจอ ก็เลยไปแจ้งที่เขตจตุจักร เราจึงแจ้งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติให้มาตรวจสอบ โดยบ้านหลังนี้ถูก ทิ้งร้างไว้จากการเช่า จนกลายเป็นบ้านร้าง ตอนนี้เขาก็กลับประเทศเขาไปแล้ว แต่เขียนไว้ว่าเป็นสารอันตราย เจ้าของเลยไปแจ้ง ให้เข้ามาตรวจสอบ

 

"ยืนยันว่า ยังไม่มีการรั่วไหลแต่อย่างใด เพราะสภาพสารเคมีที่พบยังปิดสนิท และไม่ใช่โคบอลต์ 60 แต่เป็นซีเซียม 137 โดยสารนี้ไว้ใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ในโรงงานอุตสาหกรรม ตอนนี้ไม่มีความจำเป็นต้องอพยพประชาชน และสถานการณ์ไม่รุนแรง จากนี้สำนักงานประมาณูเพื่อสันติ จะขนย้ายและนำไปตรวจสอบต่อไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขนย้ายโดยรถยก เนื่องจากมีน้ำหนักมาก กล่องละ 1 ตัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน อยู่ระหว่างเก็บข้อมูล เนื่องจากต้องดำเนินคดี เพราะผิดกฎหมายมีวัตถุอันตรายไว้ในครอบครอง" ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตจตุจักร ชี้แจง

 

ขณะที่ พล.ต.ต.เจริญ ศรีศศลักษณ์ ผบก.น.2 ที่ลงพื้นที่ที่พบสารเคมี ได้กล่าวว่า จากสารที่พบเป็นกล่องคล้ายๆ แบตเตอรี่รถยนต์ขนาดเล็ก ข้างในเขียนว่า ซีเซียม 137 จากการถามเจ้าหน้าที่ บอกว่า เป็นสารที่ใช้ในอุสาหกรรมการเอกซเรย์ การถ่ายภาพ ไม่มีสารรั่วไหลและไม่ใช่สารโคบอลต์ แต่อย่างใด จากการประเมินอายุของกล่องนี้ยังไม่ยืนยัน ยังไม่ได้ยืนยันว่าข้างในคือสารอะไรเพียงด้านนอกเขียนไว้ว่าซีเซียม 137 เท่านั้น ตอนนี้ยังไม่ได้แจ้งข้อหากับใครเพราะอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ

 

ด้าน นพ.เพชร อลิสานันท์ สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า สำหรับสารซีเซียม เป็นสารที่สามารถป้องกันได้ ไม่ได้ถูกทำให้อยู่ในรูปแบบที่แพร่กระจายไปในอากาศได้  โดยเฉพาะถ้าถูกเก็บไว้ในคอนกรีต หรือห่อหุ้มไว้ด้วยตะกั่ว จะช่วยป้องกันการแพร่รังสีออกมาได้ และสารดังกล่าวจะแพร่รังสีน้อยกว่าโคบอลต์ 60 ส่วนผลของมันขึ้นอยู่กับการสัมผัสมากน้อยขนาดไหน ผลชัดที่สุด คือ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย แต่หากโดนรุนแรงเหมือนโคบอลต์ ก็จะมีอาการผิวลอก อักเสบ บวม ขึ้นอยู่กับว่าสัมผัสอย่างไร สำหรับสารทั้งโคบอลต์และซีเซียม เป็นสารที่เอาไว้รักษามะเร็ง และเอาไว้ใช้ในการฉายรังสี ถนอมอาหาร ปัจจุบันไม่แน่ใจว่า ยังมีการใช้ถนอมอาหารหรือไม่ แต่การรักษามะเร็ง มีการเลิกใช้ไปแล้ว ส่วนโคบอลต์ยังใช้อยู่แต่น้อยมาก

 

ล่าสุด ดร.อัจฉรา  วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ บอกผลตรวจสอบพบว่าไม่มีสารเคมีอะไรรั่วไหลออกมา เพราะได้นำสารข้างในไปใช้แล้ว พบเป็นเพียงกล่องเปล่าชนิดพิเศษที่ไว้ "สารอิริเดียม 192" ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมถ่ายภาพ ไม่ใช่สารกัมมันตรังสีโคบอล 60 รวมถึง ซีเซียม 137 และขณะนี้ได้เคลื่อนย้ายกล่อง มาจัดเก็บ ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติแล้ว

ขณะที่ นายศิริ ศรีมโนรถ ผู้อำนวยการสำนักงานรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับสารซีเซียม 137 เป็นสารกัมมันตรังสีซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายผู้สัมผัส เช่นเดียวกับสารกัมมันตรังสีโคบอลต์ 60 เพราะรังสีรังสีแกมมาที่หลุดออกมาสามารถทะลุผ่านเนื้อเยื่อได้ โดยทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เซลล์ตาย และผิวหนังเป็นผื่นแดงหรืออักเสบได้ แต่เมื่อเทียบกับความรุนแรงแล้ว ถือว่าน้อยกว่า เนื่องจากพลังงานของสารซีเซียม 137 นั้น อยู่ที่ประมาณ 660 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ ในขณะที่โคบอลต์ 60 อยู่ที่ประมาณ 1,200 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ อย่างไรก็ตาม จากข่าวที่ออกมาระบุว่าสารไม่ได้รั่วไหลออกมาภายนอกบรรจุภัณฑ์ ก็ถือว่ามีความปลอดภัย  ขณะที่ อิริเดียม 192 ที่มีการยืนยันล่าสุด มีความอันตรายไม่ต่างจากโคบอลต์ 60 และซีเซียม 137 ขึ้นอยู่กับสารสัมผัส และระยะเวลาการสัมผัส โดยพลังงานของ อิริเดียม 192 อยู่ที่ประมาณ 380 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ ซึ่งน้อยกว่าสารที่ถูกเอ่ยถึงมาก่อนหน้าทั้งสองตัว

 

 

รมว.วิทย์ฯ สารรังสีที่พบ ซอยพหล 24 ไม่อันตราย

ตามที่มีข่าวว่า ได้พบอุปกรณ์ที่มีสารรังสีรั่วไหล ณ ซอยพหลโยธิน 24 แยก 2-1 พื้นที่เขตจตุจักร  กรุงเทพมหานคร ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตนเอง พบอุปกรณ์ที่เป็นกล่องโลหะสี่เหลี่ยมที่มีน้ำหนักมาก ขนาดประมาณ 30x15x15 ลูกบาศก์เซนติเมตร จากการตรวจสอบกล่องดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ถ่ายภาพทางรังสีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม มีฉลากระบุเป็นสารอิริเดียม-192 ซึ่งเป็นสารต้นกำเนิดรังสีแกมมาที่มักใช้ในการตรวจสอบรอยแตกของชิ้นส่วนโลหะในโรงงานอุตสาหกรรม 

 

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุโดยใช้เครื่องมือวัดรังสีคุณภาพสูงแล้ว ไม่พบปริมาณรังสีรั่วไหลแต่อย่างใด ทั้งในบริเวณกล่องอุปกรณ์ดังกล่าวและพื้นที่บริเวณโดยรอบ ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่ได้ยืนยันว่าไม่มีสารรังสีใดๆ ตกค้างเหลืออยู่ และไม่มีการแพร่กระจายในพื้นที่โดยรอบ  จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะไม่มีอันตราย ทั้งนี้ ปส. ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามมาตรฐานสากลอย่างครบถ้วนแล้ว อย่างไรก็ตามในลำดับถัดไป กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปรากฏของอุปกรณ์ดังกล่าวในพื้นที่ต่อไป

 

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ