แน่นอนว่าที่มาของผักตบชวาที่สะสมบริเวณประตูระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ย่อมมาจากแม่น้ำสาขา เจ้าหน้าที่ระบุว่า ส่วนใหญ่มาจาก แม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี ที่เป็นแหล่งเลี้ยงปลากระชังขนาดใหญ่ ซึ่งสารเคมีจากอาหารปลาส่งเสริมต่อการเจริญเติบโตของผักตบชวา
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การกำจัดผักตบชวาทำได้ยาก เก็บเท่าไหร่ก็ไม่หมด เป็นเพราะ
ผักตบชวามีอัตราการขยายพันธุ์ค่อนข้างรวดเร็ว ผักตบชวา 1 ต้น สามารถให้เมล็ดได้มากถึง 5,000 เมล็ด เมล็ดผักตบชวาเมื่ออยู่ในแหล่งน้ำจะมีชีวิตได้นานถึง 15ปี
ผักตบชวาสามารถขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อ ผักตบชวา 2 ต้น สามารถแตกใบเจริญเติบโตเป็นต้นได้ถึง 30 ต้น ภายใน 20 วัน หรือเพิ่มน้ำหนักขึ้น 1 เท่าตัวภายใน 10 วัน สามารถขยายตัวครอบคลุมผิวน้ำได้อัตราร้อยละ8 ต่อวัน
และหากปล่อยผักตบชวาลงแหล่งน้ำเพียง 10 ต้น ภายใน1 ปี ผักตบชวาจะขยายพันธุ์แพร่กระจายปริมาณเป็น 1 ล้านตัน ในประเทศไทยผักตบชวาแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในแถบที่ราบลุ่มภาคกลาง โดยเฉพาะที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน โดยพบว่าแต่ละวันมีผักตบชวาไหลลงอ่าวไทย คิดเป็นน้ำหนักสดประมาณ 2,000 ตันต่อวัน
การแพร่กระจายของผักตบชวา เป็นปัญหาระดับชาติ ที่ส่งผลต่อ ระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น กีดขวางการสัญจร-ขนส่งทางน้ำ เป็นอุปสรรคต่อการประมง ทำใหอัตราการไหลเวียนของแม่น้ำลำคลองลดลง น้ำเน่าเสีย ส่งผลต่อชาวบ้านและสัตว์น้ำ ส่วนผักตบชวาที่จมลงจะทำให้แม่น้ำลำคลองตื้นเขิน เคยมีการจัดอันดับวัชพืชร้ายแรง 10 อันดับของโลก ผักตบชวาจัดเป็นวัชพืชร้ายแรงอันดับที่ 8
ประเทศไทยเคยมี กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดผักตบชวาโดยเฉพาะ คือ
พระราชบัญญัติกำจัดผักตบชวา พ.ศ.2456 สมัยรัชกาลที่ 6 เพราะเกิดปัญหาผักตบชวาแพร่พันธุ์รวดเร็ว โดยมีวัตถุประสงค์ห้ามปรามไม่ให้ผู้ใดนำผักตบชวาไปยังพื้นที่อื่นๆและให้ช่วยกันกำจัดผักตบชวา แต่กฎหมายฉบับนี้ยกเลิกไปเมื่อปี 2546โดยพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน
ปัจจุบันหน่วยงานที่ดูแลเรื่องกำจัดผักตบชวาโดยตรงคือ กรมเจ้าท่า ซึ่งมีแผนงานชัดเจนที่จะกำจัดผักตบชวาตามแหล่งน้ำสำคัญๆต่างๆ แต่ ปริมาณผักตบชวาก็ยังเพิ่มขึ้นทุกปี