โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน ขึ้นเวทีปราศรัยที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ประกาศจุดยืนแข่งกร้าวต่อผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย หนึ่งในประเด็นใหญ่ก็คือ การสร้างกำแพงตามแนวชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก ซึ่งเป็นนโยบายสกัดผู้อพยพที่ ทรัมป์ พูดถึงในการหาเสียงมาโดยตลอด โดยเค้าบอกว่า เม็กซิโกจะเป็นคนจ่ายเงินค่าก่อสร้าง 100 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ทรัมป์ ยังประกาศว่า หากได้เป็นประธานาธิบดี จะส่งผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายกลับประเทศสถานเดียว โดยบอกว่า หากคนกลุ่มนี้ต้องการได้รับสถานะโดยถูกต้องตามกฎหมาย ต้องกลับประเทศและทำเรื่องขอกลับเข้าไปใหม่
ซึ่งคาดการณ์ตัวเลขผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2014 อยู่ที่ประมาณ 11 ล้าน 3 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นชาวเม็กซิกัน 5,600,000 คน หรือ คิดเป็น 49 เปอร์เซ็นต์
ทรัมป์ ยังบอกอีกว่า จะจัดการกับผู้ที่อยู่ในประเทศหลังจากวีซ่าหมดอายุแล้วอย่างจริงจังจะจัดตั้งหน่วยพิเศษเพื่อการเนรเทศ โดยอาชญากรจะต้องถูกเนรเทศเป็นอันดับแรก เพิ่มเจ้าหน้าที่หน่วยงานดูแลการเนรเทศอีกสามเท่า เพิ่มจำนวนสถานีลาดตระเวนชายแดน ขณะเดียวกันก็จะกวดขันให้ผู้อพยพปฏิบัติตามค่านิยมอเมริกันอย่างเคร่งครัด และปกป้องกลุ่มคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน และเชื้อสายฮิสปานิก ด้วยการจำกัดจำนวนผู้อพยพถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่ ฮิลลารี่ คลินตัน ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า การบินไปเข้าพบผู้นำเม็กซิโกเพียงไม่กี่ชั่วโมง ไม่สามารถชดเชยคำพูดดูถูกถากถางที่ทรัมป์เคยใช้กับผู้อพยพชาวเม็กซิกันได้
กำแพงของทรัมป์
การสร้างกำแพงกั้นระหว่างชายแดนทางตอนใต้ของสหรัฐฯ กับประเทศเม็กซิโก เป็นหนึ่งในแนวคิดแก้ปัญหาผู้อพยพลักลอบเข้าเมืองของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด ถึงความสุดโต่ง และสุ่มเสี่ยงที่จะทำลายสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้าน
หากกำแพงนี้ถูกสร้างขึ้นตลอดแนวพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกจริง ก็จะมีระยะทางรวมกว่า 3,144 กิโลเมตร เทียบกับกำแพงเมืองจีนที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันการบุกรุกของชนเผ่ามองโกล ซึ่งยาวเกือบ 21,000 กิโลเมตร คงเทียบไม่ติด... แต่ถ้าคิดถึงบริบทปัจจุบัน สหรัฐฯ กับเม็กซิโกเองเป็นเพื่อนบ้านกัน และก็ไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม การสร้างกำแพงในระดับนี้ (ไม่ใช่แค่รั้วลวดหนามแบ่งเขตแดน) จึงถือเรื่องใหญ่เลยล่ะค่ะ
ซึ่งในการประกาศนโยบายคนเข้าเมืองที่เมืองฟินิกซ์ รัฐแอริโซนา หลังกลับจากเดินทางเยือนเม็กซิโก และได้พบกับประธานาธิบดี เอ็นริเก เปญา นิเอโต ทรัมป์ก็ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกำแพงที่เขาวาดฝันว่า จะมีการติดตั้งเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุด เช่น เซ็นเซอร์บนพื้นดินและใต้ดิน
เพื่อตรวจจับแก๊งค้ายาหรือผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมถึงค้นหาและปิดเส้นทางอุโมงค์ที่มีการลักลอบขุด คุณผู้ชมอาจจะคุ้นๆ จากภาพยนตร์หลายเรื่องเกี่ยวกับสงครามยาเสพติดบริเวณชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังประกาศว่าจะเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนตลอดแนวกำแพงชายแดนอีกอย่างน้อย 5,000 นาย อีกด้วย
สำหรับกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐฯ – เม็กซิโกนี้ ทรัมป์เคยพูดไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า งบประมาณก่อสร้างน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 แสน 7 หมื่นล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้างอย่างน้อย 4 ปี
แต่บทวิเคราะห์ของสำนักข่าววอชิงตันโพสต์ระบุว่า กำแพงชายแดนที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน 1,050 กิโลเมตร ยังใช้งบก่อสร้าง 2 แสน 4 หมื่นล้านบาท การก่อสร้างกำแพงส่วนที่เหลืออีกว่า 2,150 กิโลเมตร นั้นน่าจะใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท
ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ ทรัมป์ ยืนยันระหว่างแถลงนโยบายคนเข้าเมืองว่า เม็กซิโกจะต้องเป็นฝ่ายออกเงินเองทั้งหมด ซึ่งตอนที่พบกับผู้นำเม็กซิโกไม่ได้มีการหารือกันถึงเรื่องนี้ เราจะสร้างกำแพงสูงกั้นแนวชายแดนทางตอนใต้ของประเทศ และเม็กซิโกจะเป็นคนจ่ายเงินสร้างกำแพงนี้ 100% เต็ม ตอนนี้ พวกเขายังไม่รู้หรอก แต่พวกเขาจะต้องเป็นฝ่ายที่ต้องออกเงิน
อย่างไรก็ตาม ด้านประธานาธิบดี เอนริเก้ เปญา นิเอโต ของเม็กซิโก ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า “ก่อนการหารือ เขาได้บอกกับทรัมป์ไปอย่างชัดเจนแล้วว่า เม็กซิโกจะไม่เป็นฝ่ายออกเงินในการก่อสร้างกำแพงดังกล่าวแน่นอน”
ขณะที่ล่าสุด ผู้นำเม็กซิโก ก็ได้กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เมื่อช่วงค่ำวันพุธที่ผ่านมา ด้วยสีหน้าเคร่งเครียดว่า “นโยบายของทรัมป์อาจเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อเม็กซิโก ซึ่งเขาจะไม่อยู่เฉยแน่นอน ....เขาจะเผชิญหน้ากับความเสี่ยงหรือการคุกคามนั้น”
ซึ่งท่าทีนี้ ต่างจากตอนที่เขากล่าวหลังเสร็จสิ้นการหารือกับทรัมป์ว่า “เป็นการพบกันที่เปิดเผยและสร้างสรรค์”
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีนิเอโต ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตัดสินใจเชิญ ทรัมป์ มาหารือเป็นการส่วนตัว เพราะมหาเศรษฐีฝีปากกล้าผู้นี้เคยกล่าวโจมตีเม็กซิโกมาก็ไม่ใช่น้อย ซึ่งขณะที่หลายฝ่ายมองว่า นี่อาจจะเป็นความพยายามของนิเอโต ที่จะเรียกคะแนนนิยมตัวเองที่ขณะนี้กำลังตกต่ำ กลับคืนมาหรือเปล่า โดยอาจจะตั้งใจเชิญทรัมป์มาเพื่อตำหนิอย่างเปิดเผย แต่สุดท้ายแล้ว กลายเป็นว่าผู้นำเม็กซิโกเลือกที่จะระมัดระวังสงวนท่าที ให้เกียรติและต้อนรับทรัมป์ตามปกติ
“ทรัมป์” ปราศรัยร้อน แต่กระแสไม่ติด
ความฮึกเหิมยินดีของกลุ่มผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เวทีปราศรัยที่รัฐแอริโซนา ไม่ได้สะท้อนถึงความรู้สึกผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐทั่วไปเลย
กลับกันการปราศรัยของทรัมป์ในวันนี้ ที่ประชาชนสหรัฐฯ ต่างรอคอยความชัดเจนเรื่องนโยบายจัดการผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฏหมาย กลับไม่ใช่ไพ่เด็ดที่จะช่วยเสริมกระแสให้กับตัวเขา
ในส่วนของรายละเอียด ความสุดโต่งของทรัมป์ลดลงไปมาก จากที่ก่อนหน้านี้สัญญาไว้ว่าจะส่งผู้ที่เข้าประเทศอย่างผิดกฏหมายกลับทั้งหมด โดยไม่มีข้อยกเว้น แต่วันนี้ ทรัมป์เผยว่าผู้ที่มีประวัติอาชญากรรมเท่านั้นที่จะถูกส่งกลับ
นอกจากนี้ ท่าทีของทรัมป์ที่ร่วมแถลงกับผู้นำเม็กซิโก กับบนเวทีปราศรัยที่รัฐแอริโซนานั้นแตกต่างกันสิ้นเชิง และทำให้ย้อนนึกถึงคำเตือนของนาย บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่หาว่าทรัมป์นั้นขาดวุฒิภาวะ และไม่สามารถทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดีได้
ในความเป็นจริงแล้วปัญหาความหละหลวมในการตรวจตราพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก มีมูลเหตุให้น่าวิตกจริง ไม่เพียงแค่ผู้คนที่ข้ามพรมแดนได้อย่างง่ายดาย แต่อาวุธปืนจำนวนมากและยาเสพติดก็ถูกลักลอบขนไปมาทุกๆ วัน ซึ่งเรื่องนี้ประธานาธิบดีเอนริเก้ เปญา นีเอโต้ ของเม็กซิโก เองก็ได้พูดคุยกับทรัมป์ ว่าปืนที่ถูกลักลอบผ่านชายแดนเข้ามาสู่เม็กซิโก ทำให้สถานการณ์สงครามของกลุ่มค้ายาเสพติดรุนแรงขึ้นมาก
แต่ทรัมป์กลับไม่หยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาสร้างความชอบธรรมให้กับกลยุทธ์สุดโต่งของตน
ขณะเดียวกัน ตัวแทนกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ที่มีเชื่อสายลาตินอเมริกัน ได้คาดหวังเอาไว้ว่าจะได้ยินรายละเอียดเรื่องแนวทางการจัดการผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมายที่เคารพหลักการมนุษยธรรมของพรรครีพับลิกัน
แต่หลังจากฟังการปราศรัยของทรัมป์ในวันนี้ พวกเขาก็หมดศรัทธาลงจากท่าทีที่ขาดความจริงใจ พร้อมกับประกาศว่าจะเลิกสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์
จากที่ก่อนหน้านี้ ดูเหมือนว่า ทรัมป์ จะเอาตัวรอดได้จากทุกสถานการณ์ ตอนนี้ อาจถูกคำสัญญาที่ตัวเองเคยอวดอ้างไว้ย้อนกลับมาทำร้าย ทำให้อยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกได้
ซึ่งหากกลยุทธ์ในการพูดจากโผงผางของทรัมป์ไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือกับบุคคลทั่วไป ที่จำเป็นอย่างมากต่อชัยชนะของเขาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปลายปีนี้ ก็คงต้องบอกว่า หลังจากนี้ เส้นทางสู่ทำเนียบขาวของทรัมป์น่าจะลำบากยิ่งขึ้น