IS หลังม่านฮาวาย

โดย PPTV Online

เผยแพร่

คอมเมนต์ที่ 36 โดย เข็มขัดสั้น

กลายเป็นปมร้อนตลอดสัปดาห์ สำหรับงบค่าเดินทางและผู้โดยสารร่วมทริปกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมบินลัดฟ้าไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-สหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการ ณ มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 ก.ย. - 1 ต.ค.2559

ประเด็นสำคัญที่สังคมจับจ้อง คือ งบใช้จ่าย และใครกันบ้างที่เดินทางร่วมคณะ กระแสร้อนแรงจนกระทรวงกลาโหมต้องออกมาแถลงชี้แจงกันรายวัน

พักจากข่าวร้อน ๆ มาดูข่าวหลังการประชุมอย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้เสียหน่อยซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่ามีความสำคัญต่อภูมิภาคนี้

ข่าวที่ว่าเป็นข่าวความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มรัฐอิสลาม” หรือ IS (Islamic State) ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการพูดคุยรอบนี้ไม่กี่วันก็มีข่าวเกี่ยวกับ IS ปรากฏตามหน้าสื่อออนไลน์หลายสำนัก

  • แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แถลงผลการหารือครั้งนี้โดยตอนหนึ่งของถ้อยแถลงเตือนให้เฝ้าระวังนักรบกลุ่ม IS ที่มีแนวโน้มจะเดินทางกลับมาก่อเหตุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ดาโต๊ะ ซรี ฮิชามมุดดิน ตุน ฮุสเซน รัฐมนตรีกลาโหมมาเลเซีย แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อภัยคุกคามความมั่นคงจากกลุ่ม IS โดยเฉพาะกลุ่มผู้ร่วมรบกับ IS และผู้บ่มเพาะแนวคิดรุนแรงด้วยตนเองและก่อเหตุโดยลำพัง เขาแถลงว่า กลุ่มผู้ร่วมรบกับ IS เดินทางกลับประเทศประเทศแล้ว
  • อึ้ง เองเฮน รัฐมนตรีกลาโหมสิงคโปร์ ระบุว่า มีพลเรือนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 1,000 คนเข้าร่วมกับกลุ่ม IS ในซีเรียและอิรัก รวมทั้งมีภัยคุกคามก่อการร้ายจากกลุ่มนิยมความรุนแรงเพิ่มขึ้น
  • ข่าวอ้างถึงรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนซึ่งเชื่อว่า หากกลุ่ม IS ในซีเรียและอิรักถูกทำลายลง ภูมิภาคนี้จะมีความเสี่ยงระยะสั้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากบรรดานักรบกลุ่ม IS จะตัดสินใจกลับประเทศโดยที่ยังมีความพร้อมที่จะก่อเหตุ
  • แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ บอกว่า สหรัฐกำลังรุกรบกับ IS ในโลกไซเบอร์ เพื่อเข้าถึงและขัดขวางการก่อการร้ายของกลุ่มนี้

ถ้าแนวรบก่อการร้ายกำลังจะย้ายหรือเปิดสมรภูมิในโลกไซเบอร์แล้ว ประเทศไทยมีความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามด้านการก่อการร้ายและภัยไซเบอร์มากน้อยเพียงใด เพราะต้องไม่ลืมว่า ถึงแม้เราจะเพิ่งตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมาหมาด ๆ แต่รายงานการสำรวจสถานภาพด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) บ่งบอกถึงความพร้อมของเราได้เป็นอย่างดี

  • 68.8% ของบุคลากรในหน่วยงานที่สำรวจ (ร้อยละ 62 เป็นหน่วยงานภาครัฐ) ไม่มีความรู้ความเข้าใจและความตระหนักถึงภัยคุกคามไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
  • 59% ใช้งานซอฟต์แวร์ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง
  • 50% เมื่อมีการคุกคามต่อความมั่นคงไซเบอร์จนเกิดความเสียหายแล้วไม่ดำเนินการใด ๆ โดยให้เหตุผลว่าไม่มีงบประมาณสนับสนุน

IS กับความพร้อมของไทยในการต่อต้านภัยคุกคามไซเบอร์ แม้จะเป็นคนละเรื่องเดียวกันแต่มีความเชื่อมโยงกันก็มีด้วยประการฉะนี้.

ขอบคุณภาพจาก FB: โฆษกกระทรวงกลาโหม

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ