ถนนเขาตับเต่า "โค้งปราณีต - โค้งบรรจง" รถพุ่งชนหน้าผาหิน (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เตือนผู้ใช้เส้นทาง “ช่องสะเดา – ศรีสวัสดิ์” ช่วงเขาตับเต่า จ.กาญจนบุรี สังเกตป้ายเตือนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ

ถนนทางหลวงหมายเลข 3199 ตอน “ช่องสะเดา – ศรีสวัสดิ์” ช่วง กม. ที่ 58 – 62 จ.กาญจนบุรี หรือที่คนในพื้นที่เรียกกันว่า “เขาตับเต่า” เป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยงทางถนนแห่งหนึ่งของประเทศไทย ด้วยลักษณะทางกายภาพของถนน ที่เป็นทางขึ้นลงเขาลาดชัน และมีหน้าผาหินในทางโค้ง ซึ่งส่วนใหญ่รัศมีในการเลี้ยวรถค่อนข้างแคบ โดยเฉพาะในจุดที่ชาวบ้านแถบนี้เรียกกันว่า “โค้งปราณีต – โค้งบรรจง

สถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วง 4 กม. อันตราย ระหว่างเดือน ธ.ค. 2555 – ก.ค. 2559 เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่มากถึง 10 กรณี มีผู้บาดเจ็บรวม 115 ราย เสียชีวิต 13 ราย ส่วนใหญ่เป็นรถบัสโดยสารและรถบรรทุก จากการสำรวจสภาพถนนทีมนิวมีเดีย PPTV พบว่าในจุดเสี่ยงเจ้าหน้าที่ได้นำยางรถยนต์ มาวางกองไว้บริเวณทางโค้งที่เป็นหน้าผาหิน เพื่อลดแรงกระแทรกในกรณีรถเสียหลักพุ่งชนหน้าผา รวมไปถึงการติดป้ายเตือนต่างๆ และทาสีถนนเพื่อเพิ่มความฝืด แต่เราก็ยังเห็นเศษซากความเสียหายจากอุบัติเหตุ ซึ่งยังคงเป็นร่อยรอยใหม่ๆ หลงเหลือให้เห็น

เผ่าพงษ์ ดอนสมพงษ์ หัวหน้าหมวดทางหลวงศรีสวัสดิ์ แขวงทางหลวงกาญจนบุรี บอกว่า ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขา เส้นทางจึงค่อนข้างแคบมาก แถมมีโค้งคดเคี้ยวและหน้าผาหิน ทำให้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง นำมาซึ่งความสูญเสียค่อนข้างมาก ครั้งล่าสุดเกิดเหตุรถพุ่งชนแบริเออร์ทะลุไปชนหน้าผา ซึ่งในจุดเกิดเหตุขณะนั้นยังไม่ได้นำยางรถยนต์ มาวางเพื่อซับแรงกระแทรกเป็นเหตุทำให้คนขับเสียชีวิต

“ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในจุดนี้ เกิดจากการไม่ชำนาญเส้นทางและสภาพรถที่ไม่พร้อม จึงอยากฝากเตือนผู้ใช้เส้นทางนี้ ให้สังเกตป้ายเตือนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ”

สำหรับแนวทางป้องกันและลดความสูญเสีย หมวดการทางได้ทำการติดตั้งป้ายเตือนเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกจุดอันตราย โดยทำป้ายเตือนขนาดใหญ่กว่าปกติ พร้อมติดตั้งป้ายเชฟรอนบอกทิศทาง ทั้งแบบธรรมดาและมีสัญญาณไฟแจ้งเตือน เพิ่มเติมในทางโค้งที่เป็นจุดเสี่ยง ส่วนพื้นผิวถนนได้มีการทาสีแดงเป็นระยะ เพื่อเพิ่มความแรงเสียดทานป้องกันรถลื่นไถล  

ขณะที่ ณัฐพงษ์ บุญตอบ นักวิชาการมูลนิธิไทยโรดส์ เล่าว่าเมื่อช่วงปลายปีที่ 2558 ไทยโรดส์เคยลงพื้นที่วิเคราะห์สาเหตุ การเกิดอุบัติเหตุรถบัสเสียหลักตกถนนบริเวณเขาตับเต่า เคสนั้นมีผู้เสียชีวิต 8 ศพ พบว่าสาเหตุหลักปัจจัยเกิดจากผู้ขับขี่ไม่คุ้นชินเส้นทาง ประกอบกับการใช้ความเร็วไม่เหมาะสมกับสภาพถนน รวมไปถึงสภาพรถที่เก่าผ่านการใช้งานมานาน กว่า 20 ปี สภาพอุปกรณ์ภายในรถขาดการซ่อมแซมบำรุงรักษา จริงอยู่ที่รถบัสแบบชั้นครึ่งปลอดภัยกว่ารถบัสสองชั้น แต่การนำมาวิ่งในเส้นทางเขาที่มีโค้งคดเคี้ยว ผู้ขับขี่ต้องเพิ่มความระมัคระวังมากกว่าปกติ

ในส่วนปัญหาของของถนนในจุดนี้ หากจะแก้ไขปรับปรุงเพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ ตามหลักวิศวกรรมอาจต้องพิจารณา เลือกการใช้กำแพงคอนกรีตหรือแบริเออร์ให้เหมาะสม ในลักษณะที่มีความสูงมากขึ้นกว่าปกติ เพื่อรองรับอุบัติเหตุรถขนาดใหญ่ เพราะรูปแบบที่ใช้ในขณะนี้ไม่สามารถรองรับได้ เมื่อรถขนาดใหญ่หลุดโค้งพุ่งชนจึงข้ามไปชนหน้าผาหิน

“ตัวอย่างที่เราเคยแก้ปัญหาจุดเสี่ยงในลักษณะนี้ คือที่ถนนตาก-แม่สอด ซึ่งเกิดอุบัติเหตุรถบัสตกเหวบ่อยครั้ง ล่าสุดเข้าใจว่ามีการติดตั้งแบริเออร์เฉพาะรูปแบบสูงระดับ 1.50 – 1.80 เมตร”

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจเส้นทางพบว่าหมวดการทาง ได้มีการติดตั้งป้ายเตือนและป้ายสัญญาณไฟ ตามจุดเสี่ยงและทางโค้งอันตรายค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะป้ายแจ้งเตือนให้ใช้เกียร์ 1 ในทางลงเขา พร้อมทั้งระบุระยะเส้นทางอันตรายให้รู้ด้วย แต่แนวทางลดความสูญเสียนั้น ในส่วนผู้ขับขี่เองสำคัญที่สุดคือต้องไม่ประมาท อย่างคิดว่าระยะทางลงเขาสั้นๆ เพียง 3 กม. ไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร เพราะเราไม่สามารถรู้ล่วงหน้า ว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

แนวทางป้องกันและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ไม่ได้ถูกดำเนินการแก้ไขเฉพาะหน่วยงานด้านถนนเท่านั้น แต่ที่เขาตับเต่ายังมีหน่วยงานสาธารณสุข เข้ามาร่วมวางรูปแบบเพิ่มประสิทธิภาพ การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความบาดเจ็บและเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตด้วย

นพ.จิรภัทร พุ่มฉายา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี อธิบายถึงแนวทางช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า “ตับเต่าโมเดล” ให้ฟังว่า วัตถุประสงค์คือทำอย่างไรให้ผู้ป่วยถึงมือแพทย์เร็วที่สุด ด้วยข้อจำกัดด้านภูมิประเทศที่เป็นเส้นทางคับแคบ จึงต้องคิดรูปแบบการคัดกรองผู้บาดเจ็บตั้งแต่จุดเกิดเหตุ ต้องแยกผู้ป่วยสีแดง เขียว เหลือง และดำ โดยการร่วมมือกันจากหลายฝ่าย ไม่เฉพาะเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหน่วยกู้ชีพจิตอาสาเท่านั้น แต่ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเจ้าหน้าที่เขื่อนศรีนครินทร์ เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน

แนวปฏิบัติการส่งต่อผู้ป่วยคือ ผู้ป่วยสีแดง และเหลือง ให้ส่งมารักษายังโรงพยาบาล เนื่องจากข้อจำกัดด้านสถานที่และบุคลากร จึงรับได้เพียงสองกลุ่มที่มีอาการหนักเท่านั้น ส่วนสีเขียว จะถูกส่งไปยัง รพ.สต.เอราวัณ เนื่องจากอาการเล็กน้อย จึงไม่ต้องรีบให้การรักษาในทันที เมื่อสถานการณ์ที่โรงพยาบาลคลี่คลาย เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลจะไปสมทบที่ รพ.สต. อีกที

“สาเหตุที่ต้องแบ่งระบบการส่งต่อผู้ป่วยแบบนี้ ก็เพื่อลดความสับสนวุ่นวายภายในโรงพยาบาล หมอจะได้รู้ในทันทีว่าต้องรีบรักษาใครก่อน ไม่ต้องเสียเวลามาคัดกรองกันที่โรงพยาบาลอีกที”

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่ากระดาน กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับสถิติการเกิดเหตุในพื้นที่นั้น ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558 – ก.ย. 2559 เกิดอุบัติเหตุใหญ่ 3 ครั้ง ครั้งแรกเสียชีวิต 8 ศพ ในครั้งแรกยังไม่ได้มีการดำเนินการตามแผนตับเต๋าโมเดล 100% ส่วนครั้งที่สองประมาณเดือน เม.ย. 2559 มีผู้บาดเจ็บ 30 กว่าราย เสียชีวิต 1 ศพ ครั้งที่สามล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บ 30 กว่าราย และเสียชีวิต 1 ศพ เช่นเดียวกัน ในสองครั้งหลังจะเห็นความแตกต่าง โดยทั้งสองกรณีมีผู้เสียชีวิตเพียงกรณีละ 1 ราย ซึ่งเป็นผลจากการปฏิบัติตามแผนกู้ชีพอย่างเคร่งครัด

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ