ยูนิเซฟ - องค์การอนามัยโลก ออกแถลงการณ์ร่วม ยืนยัน “นมแม่ดีที่สุด”

โดย PPTV Online

เผยแพร่

เฟซบุ๊กแฟนเพจ UNICEF Thailand เผยแพร่แถลงการณ์ร่วม “องค์การยูนิเซฟ” และ “องค์การอนามัยโลก” ยืนยันสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กในประเทศไทย

ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กในประเทศไทย ซึ่งกำลังได้รับการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. อยู่ในขณะนี้ เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่คนไทยกำลังให้ความสนใจ โดยมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้

ล่าสุด วันนี้ (15 ธ.ค. 2559) “องค์การยูนิเซฟ” และ “องค์การอนามัยโลก” ออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กในประเทศไทย ระบุว่า 1. การควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก อายุ 0-3 ปี เป็นมาตรฐานที่สากลยอมรับ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยอาหารทดแทนนมแม่ โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา สมัชชาอนามัยโลกซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ด้วยนั้น ได้มีมติรับรอง แนวทางเพื่อหยุดการส่งเสริมอาหารทารกและเด็กเล็กอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งได้ระบุชัดเจนว่า ไม่ควรมีการส่งเสริมการตลาดของอาหารทดแทนนมแม่ สำหรับทารกและเด็กเล็กอายุถึง 36 เดือน

2. หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นชัดเจนมาก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหนึ่งในวิธีสำคัญที่พ่อแม่จะป้องกันภาวะเตี้ยแคระแกร็นในเด็กได้ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาและด้านร่างกายของเด็ก นอกจากนี้ วารสารทางการแพทย์ The Lancet (2559) ยังแสดงให้เห็นว่า นมแม่มีความสัมพันธ์กับสติปัญญา (ไอคิว) ที่สูงขึ้นในเด็กและวัยรุ่น และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ของแม่อีกด้วย

ปัจจุบันอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่การส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนนมแม่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและดุเดือด ดังนั้น การออกกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก UNICEF Thailand

 

ทว่าอีกด้านหนึ่ง วานนี้ (14 ธ.ค. 2559) แพทยสภา ร่วมกับเครือข่ายกุมารแพทย์ทั่วประเทศ แถลงข่าวระบุ ในฐานะองค์กรผู้ปฏิบัติงานและให้ความรู้ด้านสุขภาพเด็ก เห็นด้วยกับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสาหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. .... นี้ ที่ต้องการส่งเสริมให้ทารกไทยได้รับนมแม่ เพราะเป็นที่ยอมรับทางวิทยาศาสตร์แล้วว่านมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก การมีกฎหมายนี้จะช่วยลดการส่งเสริมการขายที่ไม่เหมาะสม และจะทำให้ทารกไทยได้รับประโยชน์จากนมแม่อย่างเต็มที่ แต่ยังมีข้อห่วงใยเกี่ยวกับรายละเอียดบางประการ ที่มีปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ การเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก และอาจจำกัดสิทธิทางวิชาการ การให้ความรู้ และการวิจัย ซึ่งส่งผลเสียต่อการพัฒนาองค์ความรู้ของประเทศ ดังนี้

1. พ.ร.บ.ฉบับนี้ควรครอบคลุมเฉพาะอาหารสำหรับทารกอายุแรกเกิดถึง 1 ปีเท่านั้น (จากเดิมที่กำหนดว่าจะควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ซึ่งรวมตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ปี) เพราะแรกเกิดถึง 1 ปี เป็นช่วงอายุที่นมยังเป็นอาหารหลักสำหรับเด็กอายุ 1 ปี ขึ้นไป ควรรับประทานอาหารแข็งหรือกึ่งแข็งเป็นอาหารหลัก (เช่นข้าวเนื้อสัตว์ไข่ผักผลไม้) วันละ 3 มื้อและดื่มนมวันละ 2-3 มื้อเป็นอาหารเสริมการให้ทารก และเด็กบริโภคนมแม่นานมากเกินไปอาจจะมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตและสติปัญญาของทารกและเด็กได้

๒. พ.ร.บ.ฉบับนี้ควรครอบคลุมเฉพาะอาหารสำหรับทารกอายุแรกเกิดถึง 1 ปีเท่านั้น เนื่องจากถ้าครอบคลุมถึง 3 ปี จะครอบคลุมถึงอาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก ที่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เช่น นมผสมสำหรับเด็กโต อาหารเสริมซึ่งเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป รับประทานเป็นอาหารหลักซึ่งเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสุขภาพเด็ก แต่ พ.ร.บ.นี้จะไม่ครอบคลุมและไม่ควบคุมการส่งเสริมการตลาด ของอาหารอื่นๆ ที่ไม่มีประโยชน์แต่จะเป็นโทษต่อสุขภาพเด็ก เช่น ขนม เครื่องดื่มชาเขียวหรือเครื่องดื่มอื่นๆที่มีน้ำตาลสูง ฯลฯ

3. พ.ร.บ. ฉบับนี้จะมีผลกระทบเป็นวงกว้างมาก หากไม่แก้นิยามอาหารให้ครอบคลุมเฉพาะนมผสม หรืออาหารสำหรับทารกอายุไม่เกิน 1 ปี เพราะจะครอบคลุมถึงนมกล่องนมโรงเรียนนมเปรี้ยวข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้และอาหารทุกชนิดที่เด็กอายุตั้งแต่๑ปีขึ้นไปรับประทานซึ่งไม่ตรงกับเจตจำนงของกฎหมายฉบับนี้

4. ด้วยเหตุผลดังข้อที่ 1 , 2 , 3 ในมาตรา 1 และชื่อพรบ.ฉบับนี้ จึงควรแก้ไขเป็น“พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารก พ.ศ ....”

5. “อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก” ในพรบ.นี้ ไม่ควรรวมถึงอาหารทางการแพทย์ เพราะเป็นอาหารที่จำเป็นสำหรับทารกที่ไม่สามารถใช้นมแม่ได้และจำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาให้ผู้ป่วยนั้นหาย มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้น อัตราการเจ็บป่วยลดลงและรอดชีวิตเพิ่มขึ้น อาหารทางการแพทย์จึงไม่มีผลกระทบต่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

6. “อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก” ใน พ.ร.บ.นี้ไม่ควรรวมถึงอาหารเสริมอาหารแข็งหรือกึ่งแข็ง ซึ่งเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปรับประทานเป็นอาหารหลัก และเป็นอาหารที่สำคัญยิ่งกว่านมหากไม่แก้ไขจุดนี้ จะเป็นผลกระทบเป็นวงกว้างเช่นการโฆษณาอาหารเสริมทุกชนิดข้าว ขนมปัง ผัก ผลไม้ ฯลฯที่เด็กอายุตั้งแต่๑ปีขึ้นไปรับประทานก็จะผิดกฎหมายซึ่งไม่ตรงกับเจตจำนงของกฎหมายฉบับนี้

7. ควรให้ผู้ผลิตผู้นำเข้าหรือผู้จำหน่ายสามารถสนับสนุนการประชุมอบรม หรือสัมมนาด้านวิชาการเกี่ยวกับอาหารทารกและเด็กเล็กได้ โดยได้รับการอนุมัติจากสถาบัน องค์กร หน่วยบริการซึ่งเป็นต้นสังกัดได้อย่างเปิดเผยและโปร่งใส เพื่อส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสาธารณสุข ของบุคลากรสาธารณสุขและของประเทศ

8. ควรให้ผู้ผลิตผู้นำเข้าหรือผู้จำหน่ายสามารถบริจาคอาหารทารกและเด็กเล็กแก่หน่วยบริการสาธารณสุข เพื่อใช้สำหรับทารกที่มีความจำเป็นต้องใช้และเพื่อการสังคมสงเคราะห์ได้โดยได้รับการร้องขอจากสถาบัน องค์กร หน่วยบริการซึ่งเป็นต้นสังกัดอย่างเปิดเผยและโปร่งใส

9 .การมีกฎหมายการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารก เป็นสิ่งดีอันจะช่วยป้องกันการส่งเสริมการตลาดแบบไม่เหมาะสม ที่อาจทำให้ทารกไม่ได้รับประโยชน์จากนมแม่อย่างที่ควร แต่ต้องไม่กระทบสิทธิและเสรีภาพของทารกและครอบครัวในการรับความรู้เรื่องโภชนาการที่เหมาะสมกับวัย เพื่อเป็นแนวทางตัดสินใจอย่างมีความรู้ต้องไม่จำกัดการปฏิบัติงาน ของหน่วยบริการสุขภาพและบุคลากรทางการแพทย์ ในการให้บริการด้านสุขภาพและวิชาการด้านอาหารทารกที่ถูกต้องแก่ทารก มารดาครอบครัวและผู้ดูแลต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาองค์ความรู้ของประเทศ และที่สำคัญยิ่งคือต้องไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาวะของทารกและเด็กที่จำเป็นต้องใช้อาหารอื่นอันไม่ใช่นมแม่ เพราะการเจริญเติบโตพัฒนาการและสุขภาวะที่ดีของทารกและเด็ก เป็นตัวชี้วัดประสิทธิผลของการให้บริการสุขภาพที่สูงสุดและสำคัญกว่าตัวเลขอัตราการปฏิบัติ เช่น อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อันเป็นเพียงตัวชี้วัดกระบวนการเท่านั้น

 

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ