หลังประเทศ “ไต้หวัน” เปิดฟรีวีซ่าสำหรับคนไทย ทำให้ความนิยมในการเดินทางไปท่องเที่ยวยัง “เกาะฟอร์โมซา” (ชื่อเดิม) ของนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว เพราะนอกจากไต้หวันจะมีธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ขณะเดียวกันในเรื่องของวัฒนธรรมและบ้านเมือง ยังขึ้นชื่อในเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย หลายคนถึงขั้นยกให้ประเทศไต้หวัน เป็นเสมือนประเทศญี่ปุ่นแห่งที่สองเลยทีเดียว
ด้วยความเป็นระเบียบแบบแผนของพลเมืองไต้หวัน ทำให้ประเทศนี้ได้รับการยกย่อง เป็นเมืองต้นแบบทางวิศวกรรมจราจรอันดับต้นๆ ของเอเชีย ไม่เฉพาะการออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน ของถนนหนทางและการคมนามสาธารณะที่ครอบคลุมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพฤติกรรมการขับขี่ และการเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัดของประชาชนด้วย ที่ทำให้ประเทศเล็กๆ แห่งนี้ มีความปลอดภัยทางถนนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกับผู้ที่ชื่นชอบการขี่จักรยาน ในระยะหลังจึงมักเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งรวมถึงคนไทยพากันมาปั่นจักรยานที่เกาะแห่งนี้
ช่วงปลายปีทีมนิวมีเดีย PPTV มีโอกาสได้เดินทาง ไปสำรวจสภาพท้องถนนและพฤติกรรมการขับขี่ รวมไปถึงการเคารพกฎจราจรของชาวไต้หวัน ณ กรุงไทเป เมืองหลวงและสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต ซึ่งเป็นเป้าหมายแห่งใหม่ของคนไทย โดยเฉพาะบริเวณ “ซีเหมินติง” ย่านช้อปปิ้งใจกลางเมือง ซึ่งนอกจากจะมีตรอกซอกซอย และร้านค้าตั้งเรียงรายจำนวนมาก จุดนี้ยังมี 4 แยกใหญ่ตั้งอยู่ด้วย หากเปรียบเทียบกับประเทศไทย จะคล้ายกับ “แยกอโศก” ในกรุงเทพมหานคร จากการสำรวจของทีมข่าวพบว่า ในชั่วโมงเร่งด่วน เวลา 08.00 – 09.00 น. แม้แยกซีเหมินจะกว้างกว่าแยกอโศก แต่การจราจรบริเวณแยกแห่งนี้ค่อนข้างลื่นไหลไม่ติดขัด ที่สำคัญการข้ามถนนของคนเดินเท้า ก็เป็นไปอย่างมีระเบียบและปลอดภัย โดยไม่จำเป็นต้องมีสะพานลอย
ณัฐพงษ์ บุญตอบ นักวิชาการมูลนิธิไทยโรดส์ ผู้ร่วมเดินทางไปกับเราในครั้งนี้ อธิบายว่าสาเหตุที่การจราจรบริเวณแยกซีเหมินติง ไม่ติดขัดเหมือนแยกอโศกเป็นเพราะ มีการจัดลำดับสัญญานไฟจราจรอย่างเป็นระบบ โดยถัดจากสัญญานไฟบริเวณแยกใหญ่ บริเวณใกล้กันจะมีสัญญาณไฟจราจรย่อยอีกชั้นหนึ่ง เจ้าหน้าที่จะทำการควบคุมสัญญาณไฟอย่างเป็นโครงข่าย ที่สำคัญมีการจัดเส้นทางเดินรถทางเดียว (One Way) ซึ่งง่ายต่อการควบคุมไฟจราจร ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ในบ้านเราประเด็นการจัดรูปแบบจราจร และการเชื่อมต่อการควบคุมระบบสัญญาณไฟจราจร เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันมาค่อนข้างนาน แต่ยังคงเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถ ทำได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากการออกแบบโครงข่ายลักษณะนี้ จำเป็นต้องประสานข้อมูลและความร่วมมือ จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
จากการสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้รถและคนเดินเท้า ทีมสำรวจเห็นอย่างชัดเจนว่า การเคารพสัญญาณไฟจราจร ถือเป็นวินัยสำคัญที่ทำให้รถในบริเวณนี้ไม่ติดขัด ขณะเดียวกันคนเดินเท้าเองก็มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง แม้จะต้องใช้เวลาอยู่บนผิวจราจรค่อนข้างนาน เนื่องจากแยกแต่ละฝั่งห่างกันค่อนข้างมาก ซึ่งในประเด็นนี้นักวิชาการมูลนิธิไทยโรดส์ มองว่าเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ 1. การมีวินัยและเคารพกฎจราจรของคนไต้หวันเอง ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด
และ 2. การอำนวยความสะดวกให้กับคนทุกประเภทอย่างชัดเจน กล่าวคือบริเวณทางร่วมทางแยกหรือแม้กระทั่งทางเดินเท้า จะมีการตีเส้นและแสดงสัญลักษณ์ สำหรับการสัญจรในแต่ละโหมดไว้อย่างชัดเจน เช่น เส้นหยุดรอข้ามถนนของคนเดินเท้า ก็จะอยู่ห่างออกไปจากจุดหยุดรถมอเตอร์ไซค์ ขณะเดียวกันทางม้าลายก็ออกแบบไว้ค่อนข้างกว้าง เพื่อรองรับจำนวนคนข้ามถนนคราวละมากๆ นอกจากนี้ จุดหยุดรอสัญญานไฟของรถยนต์ ก็ค่อนข้างห่างจากสัญญาณไฟและทางม้าลาย ซึ่งทั้งหมดเอื่อต่อการข้ามถนนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
คนไทยที่ทำงานและใช้ชีวิตในเมืองไทเป บอกเราว่าที่ไต้หวันนอกจากระบบคมนาคม รถโดยสารสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่ รถไฟ หรือแม้กระทั่งรถเมล์ จะครอบคลุมทุกพื้นที่ทำให้การเดินทางสะดวกสบายแล้ว จากการสังเกตการวางผังเมืองและเส้นทางสัญจร รู้สึกว่ามีการออกแบบให้ถนนทุกเส้นเชื่อมต่อกันเป็นระบบ สามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างง่ายดาย ที่สำคัญในเรื่องของการรักษากฎจราจร ประชาชนที่นี่ค่อนข้างเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด เนื่องจากอัตราค่าปรับค่อนข้างสูง เท่าที่เคยได้ยินหัวหน้าชาวไต้หวันพูดให้ฟัง กรณีเมาแล้วขับหากโดนจับครั้งแรก จะถูกปรับ 6 หมื่นบาท ครั้งที่สอง 1 แสนบาท ครั้งที่สามโดนยึดใบขับขี่ตลอดชีพ ขณะที่บ้านเราปรับเพียง 1 หมื่นบาท แต่ถ้าขับรถฝ่าไฟแดงจะโดนกล้องวงจรปิดบันทึกภาพไว้ เมื่อถึงกำหนดต่อภาษีจะมีใบค่าปรับแนบมาให้ทันที
ที่ไต้หวันไม่เฉพาะผู้ใช้รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และคนเดินเท้าเท่านั้น ที่มีสิทธิและความเท่าเที่ยมกัน ในการใช้ทางสาธารณะในการสัญจร แต่จักรยานซึ่งในระยะหลังเป็นที่นิยมมากขึ้น สำหรับใช้เดินทางและปั่นท่องเที่ยว ที่นี่มีการทำทางจักรยานไว้รองรับเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่เพียงช่องทางที่ค่อนข้างกว้าง และมีการทำเนินขึ้นลงเมื่อต้องตัดผ่านถนนหรือซอยเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันเส้นทางทั้งหมดยังถูกเชื่อมต่ออย่างเป็นระบบ ทำให้การเดินทางโดยรถจักรยานที่นี่ สะดวกและปลอดภัยกว่ากรุงเทพมหานครหลายเท่าตัว
สำหรับประเทศไทยซึ่งมีความคลายคลึงกับไต้หวัน ตรงที่เป็นประเทศเปิดและเน้นโปรโมทการท่องเที่ยว เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนนั้น นักวิชาการมูลนิธิไทยโรดส์ ชี้ว่าสิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งปรับปรุง เพื่อยกมาตรฐานความปลอดภัย สำหรับนักท่องเที่ยว คือการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ เพราะในบ้านเรามีหลายหน่วยงานแยกย่อย ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบคนละอย่าง ในทางปฏิบัติจึงไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูล และทำงานสอดประสานกันได้อย่างลงตัว ทว่าการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรวมไปถึงการวางระบบ เพื่ออำนวยความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ซึ่งหากทำสำเร็จจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก ให้เดินทางมายังประเทศไทยได้อีกมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมทั้งการออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง ระบบรถสาธารณะ ทางจักรยาน และการรักษาวินัยจราจร จะดีกว่าประเทศไทยค่อนข้างมาก แต่ไต้หวันเองก็พยายามแก้ปัญหาเมาแล้วขับ โดยสื่อไต้หวันยกโมเดลการแก้ปัญหาจากประเทศไทย ในช่วงวันหยุดยาวนั่นก็คือ ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์ ที่กำหนดให้ผู้ขับขี่เมาแล้วขับในช่วงนั้น ต้องไปบำเพ็ญประโยชน์ในห้องดับจิต พวกเขาคิดว่าบทลงโทษในลักษณะนี้ จะช่วยทำให้ผู้ฝ่าฝืนลดจำนวนลงได้..