วอนเคารพสิทธิ เหยื่ออุบัติเหตุรถตู้ “ไม่ตอกย้ำ – แชร์ภาพ” ซ้ำเติมความรู้สึก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมสุขภาพจิต ติดตามปัญหาสุขภาพจิตเหยื่ออุบัติเหตุรถตู้ประสานงากระบะ หวั่นเกิดภาวะซึมเศร้านะระยะยาว

จากเหตุการณ์อุบัติเหตุรถตู้โดยสาร เสียหลักข้ามเลนพุ่งชนรถกระบะบนถนนบ้านบึง-แกลง ฝั่งมุ่งหน้า อ.แกลง จ.ระยอง ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 25 คน

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยว่าเบื้องต้นได้ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต หรือ MCATT (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) จากศูนย์สุขภาพจิตที่ 6 ประสานกับทีม MCATT รพ.บ้านบึง เข้าประเมินและเยียวยาจิตใจผู้ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิต เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการดูแลสุขภาพจิตอย่างเหมาะสมและทันท่วงที ป้องกันการเกิดบาดแผลทางใจในระยะยาว

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปฏิกิริยาทางจิตใจที่พบบ่อยในช่วงแรก เช่น ช็อก ร้องไห้ฟูมฟาย เศร้าโศกเสียใจ เครียด มึนชา พูดไม่ออก ทำอะไรไม่ถูก นอนไม่หลับ กินไม่ได้ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งเป็นภาวะตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันและรุนแรง ช่วงแรกอาจจะมีอาการมาก และส่วนใหญ่จะลดลงตามระยะเวลาที่ผ่านไป โดยมักจะดีขึ้นเร็ว ถ้าได้รับการดูแลสนับสนุนจากคนใกล้ชิดอย่างเหมาะสม รวมทั้งลดการถามซ้ำๆ หรือตอกย้ำด้วยเรื่องหรือสถานการณ์การเกิดเหตุ อย่างไรก็ตาม ทีมจะเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่องทุกราย จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่มีปัญหาสุขภาพจิต เนื่องจากอาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า

ทั้งนี้ ญาติ ครอบครัว เพื่อนบ้าน และคนใกล้ชิด จะมีส่วนช่วยเหลือและเป็นคนสำคัญ ที่จะช่วยสังเกต ดูแล เยียวยา และประคับประคองจิตใจผู้ที่ต้องประสบกับความสูญเสียให้ผ่านพ้นความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้ไปได้ ผ่านการรับฟัง ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ และไม่ตอกย้ำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับ สื่อมวลชนที่หากต้องสัมภาษณ์ควรหลีกเลี่ยงการสอบถามรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้เลือกใช้คำถามที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึก มากกว่าการใช้คำถามชี้นำ เช่น ถามว่าโกรธ หรือไม่พอใจใครหรือไม่ เป็นต้น

ขณะเดียวกันโลกออนไลน์ ควรพึงเคารพสิทธิผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์ ไม่ควรแชร์หรือเผยแพร่ภาพผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บหรือคลิปต่างๆ จากเหตุการณ์ความสูญเสียในครั้งนี้ เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้ผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิต คิดถึงภาพเหตุการณ์สะเทือนใจซ้ำไปซ้ำมา ตอกย้ำซ้ำเติมความรู้สึกให้แย่ลงไปอีก ควรแสดงออกถึงการให้กำลังใจ เพื่อให้ปรับตัวและก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงในช่วงวิกฤต สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติจะเหมาะสมกว่า

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ