ปริศนานักโทษอเมริกันในคุกเกาหลีเหนือ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ข่าวการเสียชีวิตของอดีตนักโทษชาวอเมริกัน ที่ถูกคุมขังอยู่ในเกาหลีเหนือ ยังคงเป็นประเด็นให้พูดถึงอยู่ เพราะที่ผ่านมา นักโทษชาวตะวันตกที่ถูกเกาหลีเหนือคุมขัง เกือบทุกคนได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่านักโทษที่เป็นชาวเกาหลีเหนือด้วยกันเอง ปริศนาข้อนี้จึงเป็นคำถามที่ ยังตอบไม่ได้

ขณะที่การเสียชีวิตของออตโต วอมเบียร์ (Otto Warmbier) นักศึกษาชาวอเมริกันวัย 22 ปี หลังได้รับการปล่อยตัวโดยทางการเกาหลีเหนือยังคงเต็มไปด้วยปริศนาอีกมากมาย หลายฝ่ายก็ได้แสดงความประหลาดใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะเข้าใจดีว่าระบบเรือนจำของเกาหลีเหนือนั้นมีชื่อเสียงในแง่ลบแค่ไหน

นายจิโระ อิชิมารุ จากเอเชีย เพรส องค์กรสื่อที่มีสำนักงานอยู่ที่เมืองโอซากา และมีเครือข่ายแหล่งข่าวอยู่ในเกาหลีเหนือ บอกว่า ปกติแล้วเกาหลีเหนือจะควบคุมตัวนักโทษต่างชาติไว้เพื่อเป็นหมากสำหรับต่อรองเพื่อขอความช่วยเหลือหรือลดมาตรการคว่ำบาตรเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์เลยที่จะปฏิบัติกับนักโทษต่างชาติจนล้มป่วยถึงขั้นอันตราย หรือเสียชีวิตจากการขาดสารอาหาร  ซึ่งตรงกันข้ามกับนักโทษชาวเกาหลีเหนือด้วยกันที่มักจะถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณ 

 

เทียบกันแล้วนักโทษต่างชาติจะได้รับการดูแลที่ดีกว่าและจะได้รับการปล่อยตัวในที่สุด ขณะที่ทางการเกาหลีเหนือเองก็ไม่ต้องการให้นักโทษต่างชาติเหล่านี้ป่าวประกาศให้โลกรู้ด้วยว่ามีการทำร้ายหรือให้อดอาหาร

ดังนั้นกรณีของนายวอร์มเบียร์นี้ จึงเป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อยมาก เพราะที่ผ่านมา ชาวตะวันตกที่ถูกเกาหลีเหนือจับตัว มักจะได้รับการปล่อยตัวในสภาพที่แข็งแรงพอสมควร ในอดีตที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้ปล่อยนักโทษชาวอเมริกันตามธรรมเนียมมาแล้วหลายคน หลังจากการเดินทางของประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อประสานขอให้มีการปล่อยตัว ไม่ว่าจะเป็นในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน และจิมมี คาร์เตอร์ 

อย่างนาย เคนเน็ธ แบ (Kenneth Bae) มิชชันนารีลูกครึ่งเกาหลี-อเมริกัน ซึ่งถูกจำคุก 2 ปี เมื่อปี 2012 ในข้อหากระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ เพราะลักลอบนำหนังสือที่มีเนื้อหาปลุกระดมเข้าประเทศ ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในปี 2014 ภายหลังเป็นอิสระ เขาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเป็นสองปีที่เยี่ยมมาก เขาเรียนรู้อะไรมากมายและเติบโตขึ้นเยอะ รวมถึงน้ำหนักลดลงด้วย

ขณะที่นายแมทธิว มิลเลอร์ (Matthew Miller) ซึ่งถูกคุมขังเป็นเวลาหลายเดือนในข้อหาเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายเพื่อสอดแนมและถูกตัดสินให้ใช้แรงงานหนัก 6 ปี ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีที่โรงแรมในกรุงเปียงยางไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในปี 2012 ว่า เขาต้องใช้เวลาขุดดินอยู่ในไร่วันละ 8 ชั่วโมง และถูกจับขังเดี่ยว แต่สุขภาพของเขาไม่ได้แย่ลง

นอกจากนี้ ยังมี 2 นักข่าวสาวหญิง ลอรา หลิง (Laura Ling) และอี ยูนา (Euna Lee) สองนักข่าวสัญชาติอเมริกัน ที่ถูกจับเมื่อปี 2009 หลังลักลอบข้ามชายแดนจากจีนเข้าไปเกาหลี เพื่อหาข้อมูลทำข่าวเกี่ยวกับชาวเกาหลีเหนือที่แปรพักตร์   ก็ได้รับการอภัยโทษเป็นกรณีพิเศษจากนายคิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีเหนือขณะนั้น  หลังอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน เดินทางเยือนกรุงเปียงยางเพื่อเจรจาและขอโทษด้วยตัวเอง  

โดยหลังจากที่กลับมายังสหรัฐฯ สองนักข่าวก็เปิดเผยในบทความของหนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิสไทม์ว่า พวกเธอถูกสอบปากคำอย่างหนักทุกวัน แต่ไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดของการสอบปากคำ หรือว่าพวกเธอได้รับการปฏิบัติอย่างไรระหว่างถูกคุมขัง

แต่สิ่งที่ทุกคนอยากรู้มากที่สุดคือ เกิดอะไรกับอ็อตโต้ วอร์มเบียร์ กันแน่ เพราะทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เกาหลีเหนือจะทรมานเขาจนตาย เพราะเขามีค่ามากกว่านั้น จะบอกว่าพลั้งมือก็ไม่ใช่ เพราะตามร่างกายไม่มีร่องรอยถูกทรมานเลย ตอนนี้รู้แต่เพียงว่า วอร์มเบียร์ ล้มป่วยหลังจากถูกคุมขังไม่นาน แต่อาการไม่ดีขึ้น ทางเกาหลีเหนือจึงตัดสินใจส่งตัวเขากลับบ้านเกิด เพราะถ้าปล่อยให้ตายในคุก เรื่องราวก็คงจะใหญ่มากกว่านี้แน่นอน เพราะสหรัฐอย่างไรก็คงไม่ยอมง่ายๆ

การตายของนายวอร์มเบียร์ อาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนความในใจของเกาหลีเหนือก็เป็นได้ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐ ในช่วงที่ผ่านมา ย่ำแย่จนเกือบถึงขีดสุด จึงอาจเป็นการลองของจากทางฝั่งเกาหลีเหนือ เพื่อจะดูว่า ถ้าเกิดเหตุแบบนี้ สหรัฐฯ จะทำอย่างไร จะตีโพยตีพายและแก้แค้น หรือแค่ตำหนิประณามเท่านั้น

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ