รัฐประหารที่ล้มเหลวเปลี่ยน "ตุรกี" สู่อำนาจนิยม
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
15 กรกฎาคม จะครบรอบหนึ่งปีการทำรัฐประหารล้มเหลวที่ตุรกี แม้ผู้ก่อการจะทำไม่สำเร็จ ไม่มีการเปลี่ยนผู้นำ หรือเปลี่ยนระบอบการปกครองใดๆ จากคณะผู้ก่อการแต่เหตุการณ์นี้ก็เปลี่ยนตุรกีไปอย่างสิ้นเชิง

ในระดับองค์กร สื่อมวลชนราว 150 คนถูกจับ สื่อกว่าร้อยแห่งถูกสั่งปิด เช่นเดียวกับองค์กรภาคประชาสังคมอีกหลายร้อย ขณะที่ธุรกิจเอกชนนับพันแห่งถูกยึดทรัพย์ทั้งหมดเกิดขึ้นบนข้อกล่าวหาคล้ายๆกัน คือ เชื่อมโยงกับกูเลน เกี่ยวข้องกับรัฐประหาร หรือ เป็นฝ่ายตรงข้ามกับอำนาจรัฐ และพร้อมๆกับการกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม ก็มีการผ่านกฎหมายเพิ่มอำนาจ ให้ตำแหน่งประธานาธิบดีทรงพลังขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบร้อยปี นับจากการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่เมื่อปี 1923 หลักปฏิบัติแบบอิสลามเคร่งครัดที่เออร์โดอันยึดมั่นถูกนำกลับมาใช้ในการเมือง และการศึกษา ทั้งยังมีความพยายามขจัดค่านิยมตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางคำถามที่ว่า แท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นในคืนวันที่ 15 กรกฎาคม 2016 และใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกันแน่
เหตุผลที่โลกภายนอกมองด้วยสายตาเคลือบแคลงสงสัย ก็เพราะว่าการสอบสวนดำเนินไปอย่างลับๆ ไม่มีการสอบสวนอย่างอิสระตามที่พรรคฝ่ายค้านเรียกร้อง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อหลักฐานและพยานปรากฎออกมามากเท่าไหร่ก็ยิ่งพบข้อพิรุธ จนนำไปสู่สมมุติฐานของผู้สังเกตการณ์บางส่วนว่า การทำรัฐประหารเมื่อปีก่อนอาจเกิดขึ้นโดยที่ฝ่ายรัฐบาลรู้ล่วงหน้าและปล่อยให้เกิด หรือถึงขั้นกระตุ้นให้เกิด เพื่อนำไปสู่การปราบปราม และการสถาปนาบทบาทอำนาจประธานาธิบดีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในภายหลัง
ขณะที่ภายในประเทศเองก็แยกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่สนับสนุนเออร์โดอันเห็นพ้องกับทุกการกระทำของเขาเพื่อปราบปรามผู้บ่อนทำลายความมั่นคงชาติ ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าทั้งหมดเป็นข้ออ้างที่เออร์โดอันใช้สร้างฐานอำนาจ แต่ดังคำกล่าวที่ว่า ผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ถูกถ่ายทอดเป็นตำราเรียนสำหรับเด็กๆ ในชั้นเรียน และเป็นชุดความคิดรายงานผ่านสื่อสำหรับผู้ใหญ่ ส่วนความจริงจะเป็นเช่นไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในประเทศตุรกี
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้