กสทช. ผนึกสมาคมนักข่าววิทยุ-โทรทัศน์ไทย สร้างคุณภาพงานเชิงสืบสวนในทีวีดิจิตอล
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
จัดการเสวนาหัวข้อ"คุณภาพและปริมาณงานเชิงสืบสวนของสื่อโทรทัศน์ สะท้อนสภาพอะไรของสื่อและสังคม"

นางเอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการมีเดียมอนิเตอร์ บอกว่า จากการศึกษาเรื่องสื่อเชิงสอบสวน ในโทรทัศน์ดิจิตอล กลุ่มข่าวสารและสาระ จำนวน 7 ช่อง เพื่อวิเคราะห์การทำหน้าที่ของสื่อ สะท้อนทั้งประสิทธิภาพสื่อเพื่อสังคม และเสรีภาพของสื่อ
ในช่วงภายใต้การปกครองของรัฐบาล ที่มาจากรัฐประหาร ระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม ถึง 22 กันยายน ปี2557 พบว่า มีรายงานเชิงสืบสวนเพียง 13 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นรายการข่าวเชิงสืบสวน 10 เรื่อง ที่เหลือพบในรายการข่าวหลักทั่วไป 3 เรื่อง ขณะที่ปริมาณเวลาการนำเสนอโดยรวมมีจำนวนน้อยมาก
ส่วนประเด็นที่พบมากที่สุดในรายงานเชิงสืบสวน คือการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและการทุจริต 5 เรื่อง รองลงมาคือความขัดแย้งด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3 เรื่อง
การหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทำให้เกิดความเสียหาย 2 เรื่อง, การละเมิดสิทธิมนุษยชน 1 เรื่อง, การกระทำผิดศีลธรรมจรรยา 1เรื่อง และความขัดแย้งทางความคิด ค่านิยม วัฒนธรรม 1 เรื่อง
ขณะที่การนำเสนอ ส่วนใหญ่เน้นการอธิบาย ขยายความ หรือเพียง คลี่ปม เท่านั้น จึงหวังว่าการศึกษานี้ จะสะท้อนและสร้างแรงจูงใจ ให้สื่อโทรทัศน์ในยุคดิจิทัล เร่งสร้างคุณค่าของงานเชิงสืบสวน ทั้งปริมาณและคุณภาพมากขึ้น
นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย บอกว่า การนำเสนอข่าวเชิงสืบสวน มีข้อจำกัดเช่นแหล่งเงินทุน การจัดสรรงบประมาณ บุคลากร และเวลา
ดังนั้นการเพิ่มปริมาณและคุณภาพ ของข่าวเชิงสืบสวน จะต้องเป็นการวางนโยบาย ตั้งแต่ระดับของผู้บริหาร รวมถึงมีการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรที่เป็นทีมเฉพาะ เพื่อให้ได้ข่าวเชิงลึก
นางสุชาดา จักรพิสุทธิ์ บรรณาธิการบริหารศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง บอกว่า ข้อจำกัดของงานข่าวเชิงสืบสวน คือไม่สามารถสาวไปถึงตัวบงการ แต่มุ่งเน้นการนำเสนอตามกระแส
นอกจากการจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ จากการศึกษาสื่อแล้ว ควรต้องศึกษาและรับฟังผู้รับข้อมูลข่าวสารด้วย
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้