“ยโสธร” เตรียมรับมวลน้ำจาก “สกลนคร” ในอีก 1-2วัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ชาวยโสธรต้องเตรียมรับมวลน้ำจากจังหวัดสกลนคร ส่วนแผนพร่องน้ำออกจากเขื่อนลำปาว รวมถึงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในภาคอีสานรวม 100 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำเต็มระดับกักเก็บ วันนี้มีสัญญาณที่ดีขึ้น เมื่อปริมาณฝนดูเหมือนจะเป็นใจ

วันนี้ (1 ส.ค. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมชลประทาน ยืนยันว่า จะยังไม่พร่องน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำอื่น โดยเฉพาะ เขื่อนน้ำอูน และ เขื่อนน้ำพุง จังหวัดสกลนคร นอกจากเขื่อนลำปาว เนื่องจากว่า หากปล่อยมาในเวลานี้ ก็อาจยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ในตัวเมืองสกลนคร ที่ยังไม่ปกติดี เพราะฉะนั้นการพร่องน้ำภายใน 2 เขื่อนนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อฝนตกลงมาเติมจนเขื่อนรับไม่ไหว และน้ำท่วมรอบพื้นที่หนองหารคลี่คลาย 

เมื่อเป็นเช่นนี้ จุดที่ต้องจับตา คือ เขื่อนลำปาว โดยวันนี้ระดับน้ำด้านหลังอาคารระบายน้ำฉุกเฉินหรือสปิลล์เวย์เกือบแตะขอบ สอดคล้องกับข้อมูลของกรมชลประทาน ระบุว่า วันนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นจาก 84 เปอร์เซนต์ เป็น 85 เปอร์เซนต์  แม้ว่าเมื่อวานนี้เขื่อนลำปาวจะเพิ่มอัตราปล่อยน้ำจากวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เบื้องต้นพื้นที่ท้ายเขื่อนยังสบายใจได้ กรมชลประทาน ยืนยันว่า จะยังไม่เพิ่มอัตราการปล่อยน้ำ เพราะสัปดาห์นี้ฝนจะยังไม่ตกลงมามาก

สำหรับมวลน้ำจากจังหวัดสกลนคร ขณะนี้ไหลมารวมอยู่ที่รอยต่อจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดร้อยเอ็ด ภายใน 1-2 วันนี้ ชาวจังหวัดยโสธรจะต้องเตรียมตัวรับมวลน้ำก้อนนี้ ใครรู้ตัวว่าอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ยังพอมีเวลาที่จะขนย้ายสิ่งของ และจากจุดนี้ มวลน้ำจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูลในจังหวัดอุบลราชธานี

ย้อนกลับขึ้นมาที่จังหวัดสกลนครหลังผ่านพ้นภาวะวิกฤตในรอบกว่า 30 ปี แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย แต่อาจจะยังมีประเด็นที่ละเลยไม่ได้ ผศ.ศิริลักษณ์ ชุ่มชื่น ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า สาเหตุน้ำท่วมในจังหวัดสกลนคร นอกจากปริมาณน้ำฝนมหาศาล ยังมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำที่มาจากการพัฒนาเมืองไปกีดขวางเส้นทางระบายเดิม

ตามข้อมูลของประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. ฝนที่ตกหนักบนเทือกเขาภูพานปกติแล้ว ส่วนหนึ่งจะต้องไหลลงมารวมกันที่หนองหาร ในอดีตจะเป็นพื้นที่ว่าง ห้วยหนองคลองบึงเล็กๆ ไว้คอยรองรับและระบายน้ำจากส่วนนี้ แต่ปรากฏ จุดที่จะสามารถระบายน้ำลงหนองหานปัจจุบันกลายเป็นสนามบิน ห้างสรรพสินค้า และสิ่งปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนมากมาย ทำให้น้ำในส่วนนี้ไม่มีทางระบาย ประกอบกับปริมาณน้ำในหนองหารที่มากอยู่ ก็ยิ่งทำให้เป็นอุปสรรคในการระบายจนกลายเป็นสาเหตุประการหนึ่งของวิกฤตครั้ง

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ