ปัญหานักเรียนตีกันเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน หากย้อนไปเมื่อราวปีก่อนเมื่อเดือน ก.ค. 59 ก็เกิดข่าวนักเรียนตีกันจนตำรวจนครบาลได้ออกมาแก้ไขออกมาตรการเพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทของนักเรียน และนักศึกษา รวมทั้ง พล.ต.ท.ศานิตย์ มหาถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ก็ออกไปให้คำแนะนำตามสถานศึกษาเพื่อให้ครู นักเรียน นักศึกษาเข้าใจ และลดปัญหาด้วยการทำสัญลักษณ์ “ซารางเฮโย” เพื่อลดความขัดแย้งกับคู่อริต่างสถาบัน
ล่าสุดวันนี้ (3 ส.ค.60) หลังช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวคราวของนักเรียนไล่ตีกันอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นัด ผู้บริหารของโรงเรียนปทุมคงคา และวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงเทพ หารือแนวทางแก้ไข ปัญหานักเรียนตีกัน โดยมี กอรมน. ภาค1 เข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยการหารือเป็นไปด้วยความราบรื่น
ขณะที่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คุยปรับทัศนคติกับนักเรียนที่ถูกฟันแขน พร้อมแนะนำนักเรียนนักศึกษาแสดงพฤติกรรมที่เป็นมิตรเวลาเจอกัน เช่น ทำมือรูปหัวใจ หรือทำมือแบบมินิฮาร์ท ส่งความรักให้กัน เพื่อลดความรุนแรง หลังจากที่ พล.ต.ท.ศานิตย์ได้ แนะนำให้แสดงพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับนักเรียนต่างสถาบัน ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก ว่าไร้ผลกับปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานในสังคมไทย พร้อมทั้งได้แนะนำหลากหลายวิธีในการช่วยแก้ปัญหานี้ ขณะที่บางส่วนก็บอกว่าสามารถช่วยเรียกรอยยิ้มได้บ้าง
บางรายได้แนะนำว่า ควรตำรวจนอกเครื่องแบบไหม จุดสุ่มเสี่ยง ตรวจอาวุธไหม สายลับนักเรียนไหม ให้ครูช่วยสอดส่องไหม คนไหนโดนบ่อยๆ หรือหัวโจกควรจัดการขั้นเด็ดขาด น่าจะดีกว่าทำรูปหัวใจ และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยกันสอดส่องให้เคร่งครัด
ขณะที่บางส่วนมองว่า ปัญหานี้ควรจะเริ่มตั้งแต่ครอบครัว รุ่นพี่ และการต้องหันหน้าเข้าหากันโดยนำมาร่วมกิจกรรมกันบ่อยๆ โดยบอกว่า “พ่อแม่ต้องดูแลลูกตัวเอง..ถ้าลูกผิดพ่อแม่ต้องรับผิดชอบด้วย” , “ควรจับเด็กที่ก่อเรื่อง และสอบถามว่าได้แรงบันดาลใจจากรุ่นพี่คนไหน และให้มีการคาดโทษ ทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง รวมทั้งที่จบไปแล้ว จะได้แก้ปัญหาเรื่องระหว่างสถาบัน เพราะมีตัวชงเป็นรุ่นๆ” , “สงสัยต้องพานร.ไปบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกันทั้งสองโรงเรียนจะดีกว่าไหมคะ รักโรงเรียนแล้วให้รักชุมชน รักสังคม รักประเทศชาติ ต่างโรงเรียนแต่ชาติไทยเดียวกัน”
ส่วนบางรายเสนอความคิดเห็นแบบขำๆ หลังจากจะใช้ “ท่าหัวใจ” ลดพฤติกรรมความรุนแรง โดยบอกว่า “ท่านลองปลอมตัวเป็น นศ. สถาบันใดสบาบันหนึ่ง แบบไม่ให้ใครจำไม่ได้เลยนะ แล้วไปยืนทำหัวใจคนเดียวด้วยนะ อยากรู้ว่ามันได้ผลจริงไหม” , “หัวใจเล็กลงกว่าปีที่แล้วเยอะ” , “ไม่ต้องวิ่งนะคราวหน้า ใครไล่ฟันมา ทำรูปหัวใจส่งให้มัน” , “อย่าดูถูกท่าน เพราะผมเชื่อว่ามีไม่น้อยที่อ่านข่าวแล้วต้องแอบยิ้มแอบขำ นั่นแสดงว่าวิธีนี้ลดความรุนแรงได้บ้าง แต่คงไม่ใช่กับพวกที่คิดจะตีกัน”
นี่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนหนึ่งในโลกออนไลน์ ที่ร่วมด้วยช่วยกันเสนอทางออกของปัญหานักเรียนตีกัน ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน..