“ประวิตร” ยันก้าวล่วงศาลช่วย “น้องชาย” พ้นผิดสลายม็อบไม่ได้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แม้จะพ้นผิดคดีอาญา สำหรับอดีตนายกรัฐมนตรี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์และจำเลยทั้งหมดรวม 4 คน ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯปี 2551 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผลสรุปจะไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อวันนี้โฆษกศาลปกครองออกมาเปิดเผยว่า ยังมีคดีแพ่งค้างอยู่  ขณะที่พล.อ.ประวิตร ตอบโต้ข้อกล่าวหาอาจมีส่วนช่วยเหลือให้น้องชายพ้นผิด    

วันนี้ (3 ส.ค.60) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้หลังจากเมื่อวานนี้มีการยกฟ้อง 4 จำเลยในคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 เนื่องจาก จำเลย 1 ใน 4 คนของคดีนี้ คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายแท้ๆของพล.อ.ประวิตร โดยระบุว่า  แม้จะมีตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี แต่ตัวเองก็ไม่มีอำนาจหรือสิทธิ์ก้าวล่วงการตัดสินของศาล พร้อมฝากถึงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า หากจะเคลื่อนไหวต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และพ.ร.บ.การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. วันนี้ประชุมตามวาระปกติ แต่มีการแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่รับทราบผลการยกฟ้อง ส่วนหลังจากนี้ต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญศึกษารายละเอียดของคำพิพากษาฉบับเต็ม เพื่อตรวจดูว่ามีข้อบกพร่องตรงไหน ทำให้ศาลยกฟ้องคดี จากนั้นคณะกรรมการป.ป.ช.จะหารือเพื่อสรุปว่าจะยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่ แต่หากจะยื่นอุทธรณ์จะต้องดำเนินการภายใน 30 วันนับจากวันอ่านคำพิพากษา ส่วนในวันพรุ่งนี้แกนนำกลุ่มพันธมิตรจะนัดประชุมใหญ่ที่บ้านพระอาทิตย์ในเวลา 09.00น. เพื่อหารือแนวทางหลังจากนี้ ก่อนที่จะแถลงข่าวกับสื่อมวลชนในเวลา 11.00น.

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงมาก คือ การมองว่าการตัดสินของศาลฎีกาครั้งนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานของคดีสลายการชุมนุมอื่นๆ โดยเฉพาะ การสลายการชุมนุมปี 2553 ประเด็นนี้ถูกนำไปถามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างเดินทางไปทำบุญครบรอบวันคล้ายวันเกิดอายุ 53 ปี ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรมหาวิหาร ในฐานะที่เป็นจำเลยในคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ระบุว่า การชุมนุมแต่ละกรณีมีข้อเท็จจริงต่างกัน หากจะนำคำพิพากษาคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯไปเทียบเคียงกับการสลายการชุมนุมกลุ่มนปช. หรือ กลุ่มใด ก็ต้องดูว่าข้อเท็จจริงตรงกันหรือไม่

แม้คดีทางอาญาจะตัดสินยกฟ้อง แต่นายสมชาย งามวงศ์ชน โฆษกศาลปกครอง ยืนยันว่าเป็นคนละส่วนกับการพิจารณาให้ชดใช้ค่าเสียหาย เพราะถึงแม้จะไม่มีความผิดทางอาญาก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง  ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาจะมีผลต่อการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ขึ้นอยู่กับองค์คณะผู้พิจารณา สำหรับคดีนี้ศาลปกครองกลางเคยมีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 32 ล้านบาท แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรอพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ