“วิฑูรย์ แนวพานิช” ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดเผยในรายการเป็นเรื่องเป็นข่าว ว่าหลังจากกรมขนส่งทางบกได้มีการเปิดตัวแท็กซี่โอเค เพื่อที่จะมีการยกระดับมาตรฐานการให้บริการของแท็กซี่อีกระดับหนึ่ง ก็จะมีจีพีเอส บัตรผู้แสดงตัวตน อุปกรณ์ต่างๆ มีแอพพลิเคชั่นไว้รองรับเพื่อผู้ใช้บริการ จุดนี้จึงกลายเป็นที่มาไม่ได้คัดค้านระบบนี้ แต่สนับสนุนแนวคิดนี้เต็มที่เพราะคิดว่าแนวคิดนี้จะช่วยยกระดับแท็กซี่ไม่ให้ปฏิเสธผู้โดยสารด้วย
“หลายประเทศมีการใช้อัตราค่าโดยสารแท็กซี่ที่ยืดหยุ่น แต่บ้านเราอัตราค่อนข้างแข็งตัว เริ่มต้นที่ 35 บาทจากนั้นคิดเพิ่มตามระยะทางตามมิเตอร์ ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน รถติดหรือไม่ติดก็อัตราเดียวกันหมดเลย แต่มีหลายเมืองที่ใช้ระบบโซนชั้นนอก โซนชั้นในแล้วได้ผล เวลาดึก หรือเวลาหัวค่ำก็คนละราคา หากเป็นเมื่อก่อนถ้าจะใช้วิธีการนี้จะไม่สามารถทำได้เลย เนื่องจากมิเตอร์แบบเดิมจะไม่สามารถบอกได้เลยว่าตอนนี้อยู่ที่ไหนก็เลยต้องใช้ แต่ตอนนี้มีการนำจีพีเอสมาใส่ และต้องส่งราคาค่าโดยสารไปที่กรมการขนส่งทางบกด้วย ก็น่าจะสามารถเทียบเคียงกับหลายประเทศได้”
“รีบไปส่งรถ” , “ต้องไปเติมแก๊ส” กลายเป็นเหตุผลที่ถูกอ้างในการการปฏิเสธผู้โดยสารมากที่สุด สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลที่อ้าง แต่สิ่งที่ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ฯ วิเคราะห์กันว่าเหตุผลที่แท้จริงคือ ทำไมแท็กซี่ถึงปฏิเสธผู้โดยสารทั้งที่ได้ทั้งเงิน และไม่ผิดกฎหมายด้วย ปัญหาที่แท้จริงนั้นน่าจะเป็น “ปัญหาการจราจร” เป็นหลัก เพราะอัตราที่กำหนดไว้กับการที่ต้องไปติดอยู่หนึ่งชั่วโมงนั้นไม่คุ้มกับค่าตอบแทนที่ได้รับกับต้นทุนที่เสียไป มีส่วนต่างที่ต้อง “ขาดทุน” แน่นอน และเสี่ยงต่อการโดย “โดนทิ้งกลางทาง”เมื่อเจอรถติดโดยเลือกที่จะเดินทางด้วยการจราจรรูปแบบอื่นต่อ โดยที่แท็กซี่ต้องติดอยู่ตรงเส้นทางนั้น พอเขารู้ว่าจะต้องเสี่ยงกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น เขาก็เลยตัดสินใจปฏิเสธผู้โดยสาร โดยที่ไม่เลือกบอกเหตุผลว่า “รถติด” ซึ่งปัจจุบันโทษของการปฏิเสธผู้โดยสารคือปรับสูงสุด 1,000 บาท
วิฑูรย์ ระบุว่า นี่เป็นข้อเสนอไม่ใช่ข้อเรียกร้อง และยินดีที่ทุกฝ่ายช่วยกันเสนอความคิดเห็นเพื่อที่จะได้ข้อสรุปและหาทางออกร่วมกัน แต่นี่มันแก้ไม่ได้แล้วเรื้อรัง ถึงแม้จะมีการออกกฎหมายแล้วก็ตาม ก็ลองทดลองก่อนหากไม่มีก็กลับมาใช้แบบเดิมก็ได้ แต่ถ้าไม่ทดลองอะไรเลยก็อาจจะเจอปัญหาเดิมๆอยู่ เพราะรับไปเขาก็ขาดทุน และต้องให้เกิดความยุติธรรมหากผู้โดยสารเลือกไปเส้นทางที่ไม่มีปัญหาจราจร ก็จะได้รับค่าโดยสารที่ถูกลง ตนคิดว่ากองบังคับการตำรวจจราจรจะมีข้อมูลเส้นทางที่รถติดหรือไม่ติดอยู่ เวลาไหน สถานที่ไหนก็จะสามารถกำหนดโซนนิ่งได้
“อาจจะเริ่มลองการกำหนดโซนในจุดที่ติดจนเป็นที่ยอมรับจริงๆก่อนก็ได้ ต้องยอมรับว่าพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในเช่นสุขุมวิท นั้นไม่มีปั๊มแก๊สแท็กซี่ส่วนใหญ่ติดแก๊สเอ็นจีวี เช่นถนนพระราม 4 สุขุวิทชั้นใน หรือรอบเกาะรัตนโกสินทร์ไม่มีปั๊มแก๊ส แต่รถกว่าจะฝ่าการจราจรมาถึงกรุงเทพชั้นในทำให้หลายคันไม่กล้าฝ่าการจราจรเข้าไป หากจะปรับค่าโดยสารจาก 2 บาทเป็น 3 บาทผมก็กลัวว่าจะมาร้องกันอีกว่าแท็กซี่พาเข้าไปแต่พื้นที่ที่รถติด” ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ฯ เสนอ
ขณะที่ “ณัชพล สุพัฒนะ” หรือ “มาร์ค พิทบูล” เจ้าของเพจ Pitbullzone บอกว่า ปัญหาของการปฏิเสธผู้โดยสารเป็นปัญหามานานมาก ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้หากจะเพิ่มราคาก็ควรหาราคาที่คิดว่ายุติธรรมแล้วขอขึ้นทีเดียว และเมื่อถึงเวลาส่งรถเช่นส่งรถ 5 โมง เมื่อถึงเวลา 4 โมงเย็นก็ควรดับไฟไม่รับผู้โดยสารเลย พอเปิดไฟไว้แล้วประชาชนไม่ได้ไปในทางที่คุณต้องไปคุณก็ปฏิเสธผู้โดยสาร ไม่ใช่บอกว่าหากปรับราคาแล้วคุณจะไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร
"แนวคิดนี้เป็นค่อนข้างเห็นแก่ตัวสำหรับอาชีพคนขับแท็กซี่ เพราะประชาชนก็อยากจะเดินทาง ไม่มีใครที่จะอยากรถติด แล้วคนขับแท็กซี่จะมาอ้างว่ารถติดแล้วจะขอปรับราคาตามโซนนั้น ในทางปฏิบัติมันเป็นไปไม่ได้ แล้วจะเอาอะไรวัด โซนไหนโซนรถไม่ติดจะเอาอะไรมาวัด คนขับแท็กซี่ทุกคนต้องมีวินัย ต้องยอมรับในกติกาสังคม เราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะไปไหน เมื่อผู้โดยสารเลือกเราต้องไป เพราะผู้โดยสารไม่มีสิทธิเลือกแท็กซี่ และต่างคนก็ต่างไม่รู้ว่าสถานที่ที่เรียกไปนั้นติดหรือไม่ติด คนนั่งรถไม่มีใครอยากถึงบ้านช้า แต่เมื่อรถมันติด มิเตอร์ก็ขึ้นผู้โดยสารก็ต้องยอมรับสภาพ ไม่มีใครอยากหลอกไปเพื่อให้รถติดหรอก เพราะก็ต้องจ่ายแพงขึ้น"
ส่วนประเด็นที่บอกว่าให้ทดลองขึ้นราคาแล้วถ้าไม่ดีแล้วปรับราคาลงนั้น “มาร์ค พิทบูล” มองว่า ราคาที่ปรับขึ้นไปแล้วนั้นไม่สามารถที่จะปรับลงได้อีก ไม่มีอะไรที่ขึ้นแล้วลง การที่เจอการปฏิเสธผู้โดยสารบ่อยครั้ง พอเรียกแท็กซี่แล้วไม่ไปผู้บริโภคไปเรียกอูเบอร์แทน เพราะเขาต้องการเดินทางและความเป็นธรรม ก็อยากจะให้มีการบริการแท็กซี่แบบอูเบอร์เพิ่มขึ้นและในถูกกฎหมายเพื่อจะได้มีการแข่งขันกัน แต่ตอนนี้ปัญหาอยู่ที่การแก้ปัญหาจะจริงจังแค่ไหน การปรับแก้กฎหมายให้จริงจังและราคาให้สูงขึ้นก็จะไม่มีใครกล้าปฏิเสธผู้โดยสาร และควรหาทางออกที่ในราคาที่เหมาะสม