นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการเสนอ และส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ประกอบด้วยหลักการสำคัญ คือ จัดตั้ง คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติเพื่อกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ มีแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีความชัดเจนและโปร่งใส มีกระบวนการสรรหากรรมการที่ชัดเจน โปร่งใสและมุ่งเน้นประสบการณ์และความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อการดำเนินงานและการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจ มีกลไกระบบการกำกับดูแลที่ดี เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้เกิดความโปร่งใสและส่งเสริมความรับผิดชอบในการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล พัฒนาระบบประเมินผลที่เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์วิสาหกิจและนโยบายอย่างเป็นระบบ จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติและทำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นเชิงรุก
อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น จะทำให้การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจมีความบูรณาการเป็นระบบ และโปร่งใสมากยิ่งขึ้น อันเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการที่ดี
"การดำเนินงานจะให้ สคร. ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะและรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ และให้จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เจ้าของรัฐวิสาหกิจ โดยฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัท 11 แห่ง" นายณัฐพร กล่าว
สำหรับการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ให้ คนร.พิจารณาสั่งการให้กระทรวงการคลัง โอนหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ 11 แห่ง เดิม 12 แห่ง ไปยังบรรษัทฯ โดยตัดธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ออก เนื่องจากปัจจุบันธนาคารกรุงไทยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นเกินกว่า 50% จึงไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ ยังได้ให้อำนาจหนี้ท่ คนร. เห็นชอบกรอบวงเงินลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัท เพื่อให้คนร.มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณางบลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัทแทนการพิจารณางบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัท
ทั้งนี้ รายชื่อ รัฐวิสาหกิจทั้ง 11 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ขนส่ง จำกัด, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไปรณีย์ไทย จำกัด, บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด